นโยบายหยุดเดินรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ หรือ "หัวลำโพง" นับตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป และให้เปลี่ยนไปใช้สถานีกลางบางซื่อ ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหารถติดในเขตเมือง กลายเป็นประเด็นเผ็ดร้อนบาดลึกถึงหัวใจคนไทย ส่งผลให้ทุกภาคส่วนพร้อมใจกันต่อต้าน เพราะแนวคิดนี้จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน มีค่าครองชีพสูง ทำลายเศรษฐกิจในพื้นที่ ขณะแผนเชื่อมโยงการเดินทางสำรองยังไม่มี
ที่สำคัญสถานีรถไฟหัวลำโพงแห่งนี้เป็นสถานีแห่งแรกของประเทศไทย อายุเก่าแก่กว่า 105 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมอบไว้ให้ประชาชนได้ใช้สัญจร
สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลคือ เบื้องหลังของการสั่งหยุดเดินรถ อาจส่อไปในทางที่จะนำที่ดินอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ใช้เพื่อการเดินทางสาธารณะ ไปตกอยู่ในมือใครคนใดคนหนึ่ง
แม้แต่ข้ออ้างตัวสถานีส่วนของโถง จะอนุรักษ์เป็นพิพิธภัณฑ์ แต่นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายประภัสร์ จงสงวนอดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งธงว่าอาจเป็นเพียงซุ้มประตูทางเข้าห้างขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังเสียมากกว่า
ในที่สุดเสียงค้านได้ผลเมื่อนายศักดิ์สยามสั่งการให้ หัวลำโพงยังคงทำหน้าที่ตามปกติ ชะลอใช้สถานีกลางบางซื่อศูนย์กลางคมนาคมระบบรางแห่งใหม่ แต่ในทางกลับกัน หลายฝ่าย ตั้งข้อสังเกตว่าท่าทีดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าจะล้มเลิกแนวคิดเหล่านั้นในหัวเสียทีเดียว เป็นเพียงการถอยทัพเพื่อตั้งหลักดับอุณหภูมิร้อน เสียมากกว่า
พิจารณาได้จากการมอบให้รฟท. ศึกษา ผลกระทบให้รอบด้านเป็นเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคมเป็นต้นไป จึงเกิดคำถามตามมาว่า เหตุใดไม่ตัดสินใจเปิดใช้ทั้งสถานีรถไฟเก่าและสถานีใหม่ไปพร้อมกัน ใกล้ที่ไหนไปที่นั่นตามที่ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัว หน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้อธิบายไว้ ตอนหนึ่งบนเวทีหัวลำโพงที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยจัดขึ้น
ย้อนวันวานหากจำกันได้วันที่ 15 กันยายน 2564 นายศักดิ์สยามแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยมีคำสั่งให้รฟท.เร่งศึกษาแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่สถานีหัวลำโพง นำเสนอในเดือนพฤศจิกายน 2564 และพร้อมสำรวจ พื้นที่ริมทางรถไฟ “หัวลำโพง- บางซื่อ” จัดทำเป็นแผนพัฒนาสร้างรายได้ เพิ่มทางเลือกเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หวังเป็นรูปธรรมก่อนปี 2568
นายศักดิ์สยามมีข้อสั่งการเพิ่มเติมคือ
1. ให้รฟท.กำหนดรูปแบบการพัฒนาสถานีหัวลำโพงที่ชัดเจนโดยเร็วรวมทั้งให้เร่งรัดแผนการพัฒนาสถานีหัวลำโพงที่เดิมกำหนดไว้ในช่วงปี 2568 ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
2. ให้พิจารณานำรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ของภาคเอกชนมาประยุกต์ใช้ รวมทั้งให้เน้นการพัฒนาพื้นที่แนวดิ่ง
3. ให้พิจารณาแนวทางการพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณโดยรอบสถานีต่างๆด้วยโดยกรณีที่เป็นพื้นที่ของภาคเอกชนหรือส่วนราชการอื่นให้พิจารณาแนวทางการพัฒนาร่วมกัน
4.การให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาสถานีหัวลำโพง ให้พิจารณาเปรียบเทียบข้อสรุปถึงรูปแบบที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและรฟท. เช่น การเปรียบเทียบระหว่างการให้เอกชนร่วมลงทุนทั้งแปลง หรือการแบ่งการพัฒนาเป็นแปลงย่อย เป็นต้น และมอบให้บริษัทลูกรฟท.บริษัทเอสอาร์ทีแอสเสท จำกัด (SRTA) ศึกษาพื้นที่หัวลำโพงพร้อมกับยื่นขอแก้สีผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครจากสีนํ้าเงิน (สถาบันราชการและสาธารณูปโภค) เป็นพื้นที่สีแดง (พาณิชยกรรม)
จุดสังเกตในความรีบร้อนนำที่ดินหัวลำโพงออกหารายได้ ขณะผังเมืองรวม กรุงเทพมหานครฉบับใหม่ ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนทุกภาคส่วนไปแล้วเพียงแต่รอขั้นตอนประกาศใช้ แต่รฟท.เพิ่งจะขอเปลี่ยนแปลงสีผัง
รวมทั้งเหตุใดไม่นำที่ดินแปลงที่พร้อมกว่าพัฒนาหารายได้ ทั้งที่ไม่มีใครคัดค้านนั่นเป็นเพราะสถานีหัวลำโพงตั้งอยู่ใจกลางเมืองบนถนนพระราม 4 ทำเลมีศักยภาพสูงที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ให้ความสนใจเคลื่อนทัพเข้ามาปักหมุดจำนวนมาก
อีกทั้งเป็นที่ดินผืนใหญ่แปลงเดียวกลางใจเมือง 120 ไร่ ไข่แดงกลางกรุงหาที่ไหนไม่ได้อีก เมื่อลงพื้นที่สำรวจ พบว่า เมื่อก้าวออกจากโถง หรืออาคารขายตั๋วที่นั่งสำหรับผู้โดยสารจะเป็นส่วนของชานชาลาที่เต็มไปด้วยขบวนรถและพวงราง
โดยอาณาบริเวณของแปลงที่ดินหัวลำโพงจะไปจรดตึกแดงของรฟท. ซึ่งอยู่ติดสะพานกษัตริย์ศึก ตึกเก่าที่อนุรักษ์ไว้ มีการมาถ่ายทำภาพยนต์กันอย่างต่อเนื่องซึ่งสร.รฟท. ยํ้าว่าหากไม่ค้านอาจ โดนทุบทิ้งแน่ รวมถึงตึกบัญชาการใหญ่ จะเอาอนุสาวรีย์กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินไปไว้ที่ใหน นี่คืออีกสิ่งที่คนรถไฟหวงแหน
นอกจากนี้ยังมีเส้นทาง MRT สายสีนํ้าเงินเชื่อมเข้าตัวอาคารของสถานี มีจุดขึ้นลงทางด่วนตั้งอยู่บริเวณด้านข้าง สามารถวิ่งเข้าพื้นที่ได้ทันที และหากใครได้ที่ดินหัวลำโพงไปยังสามารถเปิดพื้นที่ตลอดแนวของถนนรองเมืองซื้อตึกแถวของเอกชนรวมแปลงเชื่อมโยงได้อีก
สำหรับพื้นที่โดยรอบสถานีหัวลำโพงในส่วนที่เป็นที่ดินของภาคเอกชน ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดง (ประเภทภาณิชยกรรม) ซึ่งบริษัทพัฒนาได้สูงถึง 7 เท่าของแปลงที่ดิน (FAR 7:1)
ขณะราคาที่ดินต้องยอมรับว่าสูง ตารางวาละ 1.5-1.6 ล้านบาท เฉพาะมูลค่าที่ดินสถานีหัวลำโพง 7.5 หมื่นล้านบาท แนวโน้มหากพัฒนาจะวิ่งไปแตะที่ 2-3 ล้านบาทต่อตารางวา
ที่สำคัญอีกความไม่พร้อมคือสายสีแดงเชื่อมสถานีหัวลำโพงแห่งนี้ยังไม่ได้ลงทุนและเป็นไปได้ยาก หากจะลากเส้นทางฝ่าตึกสูงใหญ่ไปมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร เพราะถูกล้อมด้วยโครงการของเอกชน หากทำได้ต้องขุดเป็นอุโมงค์ทางลอดลงได้ดิน ซึ่งลึกมากและไม่คุ้มทุน
อย่างไรก็ตาม นายอำนวย ปรีมนวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เอสอาร์ทีแอสเสท จำกัด (SRTA) บริษัทลูกรฟท.ยืนยันก่อนมีคำสั่งให้หัวลำโพงได้ไปต่อว่า ต้องค่อยๆ บีบให้การเดินขบวนรถไฟเข้าหัวลำโพงลดลงและปิดสถานีลงในที่สุดเพราะสถานีกลางบางซื่อก่อสร้างแล้วเสร็จหากเปิดใช้ทั้งสองแห่งต้องประสบปัญหาขาดทุนเพิ่ม ซึ่งไม่คุ้มค่า
ขณะที่ที่ดินหัวลำโพงเห็นควร นำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์เพราะมูลค่าค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับการใช้เพื่อการเดินรถ และการรื้อยํ้าว่าจะเน้นอาคารใหม่เสียมากกว่า
นี่คืออนาคตสถานีหัวลำโพง สถานีรถไฟหลักแห่งแรกของประเทศไทย ที่เก่าแก่ที่สุด ด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้ น่าจะเพียงพอแก่การอนุรักษ์ไว้ใช้ในกิจการเดินรถรองรับประชาชนและเป็นสมบัติคู่บ้านคู่เมืองสืบต่อไป