การประกาศใช้ บัญชีราคาประเมินที่ดิน รอบใหม่ ปี 2566-2569 ของกรมธนารักษ์ มีผลวันที่ 1 มกราคม 2566 ซึ่งใช้แทน ราคาที่ดินฉบับเก่าปี 2559-2562 หลังจากเลื่อนใช้มานานจากสถานการณ์โควิดโดยกระทรวงการคลังให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจปีหน้าเริ่มฟื้นตัว
การประกอบกิจการกลับมาเป็นปกติส่งผลดีต่อภาครัฐสามารถจัดเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ จดจำนอง รวมถึง ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่อาจกระทบประชาชน แลนด์ลอร์ดมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น
ทั้งนี้จากภาพรวมราคาประเมินที่ดินใหม่ปรับตัวสูงกว่ารอบเก่า ทั้งประเทศเฉลี่ย 8.93% เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ปรับขึ้น เฉลี่ย 2.69% ในทางกลับกันมูลค่าที่ดินยิ่งสูงขึ้น จะมีผลดีต่อการกู้เงินจากสถาบันการเงิน
นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด (Property DNA) บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การใช้ราคาประเมินใหม่ ไม่น่ามีผลกระทบมากนัก แต่ข้อดีผู้ซื้อที่อยู่อาศัย จะได้เงินมากขึ้นเมื่อขอกู้ธนาคารหากอ้างอิงจากราคาประเมินราชการ
อย่างไรก็ตาม นาย จำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ย่านศูนย์กลางธุรกิจ มามีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง จากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชนทำให้ราคาประเมินที่ดินรอบใหม่ปรับตัวสูงตามสะท้อนจากถนนวิทยุ ช่วงเพลินจิตถึงคลองแสนแสบเป็นถนนที่ปรับราคาประเมินเพิ่มขึ้นเท่าตัว ที่ 1,000,000 บาท/ตารางวา(ตร.ว.)
เทียบจากราคาประเมินรอบก่อน 500,000 บาทต่อตารางวา ตามด้วย ถนนวิทยุช่วงถนนพระราม4ถึงถนนเพลินจิต ปรับขึ้น 33.33% อยู่ที่ 1,000,000 บาท/ตารางวา เทียบจากราคาที่ดินรอบเก่า อยู่ที่ 750,000 บาท/ตารางวา
เช่นเดียวกับถนนพระรามที่1 ช่วงถนนราชดำริถึงถนนพญาไทราคา1,000,000 บาท/ตารางวาปรับเพิ่มขึ้นจากราคาประเมินรอบที่ผ่านมาอยู่ที่ 9 แสนบาทหรือปรับขึ้น 11.11% ขณะย่านสีลมราคาตารางวาละ1ล้านบาทไม่เปลี่ยนแปลง
ส่วนแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ราคาประเมินที่ดินจะปรับเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับราคาประเมินรอบที่ผ่านมา สะท้อนจากเขตห้วยขวาง ขยับขึ้น 21.46%เนื่องจากมีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันออก ช่วง ศูนย์วัฒนธรรม- มีนบุรีอาทิ ถนนรัชดาภิเษกจากคลองนํ้าแก้ว-ซอยรัชดาฯ 16-แยกพระรามเก้า 450,000 บาท/ตร.ว.
ถนนอโศก-ดินแดงช่วงถนนวิภาวดี-แยกพระราม 9 อยู่ที่ 300,000 บาท/ตร.ว. ช่วงแยกพระราม 9-คลองแสนแสบ 450,000 บาท/ตร.ว.ถนนวิภาวดีฯ ช่วงห้าแยกลาดพร้าว-สโมสรทหารบก 300,000 บาท/ตร.ว. ช่วงสโมสรทหารบก-แยกดินแดง 250,000 บาท/ตร.ว.ถนนพระราม 9 ช่วงแยกรัชดาฯ-รฟม. 300,000 บาท/ตร.ว.
ช่วงแยกรัชดา-แยกอสมท. 300,000 บาท/ตร.ว. ช่วงแยก อสมท-รฟม. 300,000 บาท/ตร.ว. ช่วง รฟม.-คลองแสนแสบ 200,000 บาท/ตร.ว. ถนนลาดพร้าวแยกรัชดา-ลาดพร้าว-คลองลาดพร้าวและแยกรัชดา-คลองบางซื่อ-คลองลาดพร้าว 250,000 บาท/ตร.ว.เป็นต้น
แหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์กล่าวเพิ่มเติม พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นอีกทำเลที่น่าจับตาเพราะราคาประเมินใหม่ปรับตัวสูง เนื่องจากมีความเคลื่อนไหวการลงทุนค่อนข้างมากทั้งโครงสร้างพื้นฐานรัฐและภาคแอกชน ปรับขึ้นเฉลี่ยประมาณ 20-30% โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี
สำหรับราคาประเมินที่ดินใหม่ บนถนนสายสำคัญ ในเขตกทมปี 2566-2569 ได้แก่ ถนนสีลม ช่วงถนนพระรามที่ 4-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 1 ล้านบาท/ตร.ว. ช่วงถนนนราธิวาสราชนครินทร์-ถนนเจริญกรุง 750,000 บาท/ตร.ว. ถนนเพลินจิต 1,000,000 บาท/ตร.ว ถนนราชดำริ ช่วงคลองแสนแสบ-ถนนเพลินจิต 900,000 บาท/ตร.ว.
ช่วงถนนเพลินจิต-ถนนพระรามที่ 4 อยู่ที่ 750,000 บาท/ตร.ว. ถนนพระรามที่ 1 ช่วงถนนราชดำริ-ถนนพญาไท 1,000,000 บาท/ตร.ว. ช่วงถนนพญาไท-ถนนบรรทัดทอง 500,000 บาท/ตร.ว. ช่วงถนนบรรทัดทอง-ถนนกรุงเกษม 400,000 บาท/ตร.ว. ถนนวิทยุ 1,000,000 บาท/ตร.ว ถนนสาทร ช่วงถนนพระรามที่ 4-ถนนเจริญราษฎร์ 800,000 บาท/ตร.ว. ช่วงถนนเจริญราษฎร์-ถนนเจริญกรุง 450,000 บาท/ตร.ว.
ถนนเยาวราช 700,000 บาท/ตร.ว. ถนนเจริญกรุง ช่วงถนนอัษฏางค์-ถนนบริพัตร 450,000 บาท/ตร.ว. ถนนบริพัตร-ถนนสาทร 500,000 บาท/ตร.ว. ถนนสาทร-ถนนจันทน์ 350,000 บาท/ตร.ว. ถนนจันทน์-ซอยเจริญกรุง 85 อยู่ที่ 300,000 บาท/ตร.ว. ช่วงซอยเจริญกรุง 85-ถนนพระรามที่ 3 อยู่ที่ 250,000 บาท/ตร.ว.
ช่วงถนนพระรามที่ 3-แม่นํ้าเจ้าพระยา (ถนนตก) 200,000 บาท/ตร.ว. ถนนพระรามที่ 4 ช่วงถนนมิตรพันธ์-หัวลำโพง-ถนนสาทร-ถนนรัชดาภิเษก 400,000-500,000 บาท/ตร.ว. ถนนพระรามที่ 3 ช่วงถนนเจริญกรุง-ถนนรัชดาภิเษก 250,000 บาท/ตร.ว. ช่วงถนนรัชดาภิเษก-ถนนเชื้อเพลิง 170,000 บาท/ตร.ว.ถนนสามเสน 260,000 บาท/ตร.ว. เป็นต้น