บูมภูเก็ต ฮับเวลเนสโลก  ลุยโครงข่ายบก-อากาศ สิทธิประโยชน์เท่าอีอีซี

09 ต.ค. 2566 | 08:28 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2566 | 10:57 น.

ภูเก็ตเชื่อมกลุ่ม อันดามัน “ฮับเวลเนสโลก” ดึงต่างชาติ ลงทุน-พักอาศัย ระยะยาว จุดพลุดันไฮซีซันตลอดปี “เศรษฐา” ลุยโครงข่ายบก-อากาศ ให้สิทธิประโยชน์เท่าอีอีซี-ป่าตองราคาที่ดินพุ่ง ปรับใหญ่ผังเมือง หอการค้าฯ ยันจีพีพีพุ่ง

“ภูเก็ต”จังหวัดทางภาคใต้เกาะขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางทะเลอันดามัน ล้อมรอบไปด้วยมหาสมุทรอินเดีย ที่ถูกขนานนาม “ไข่มุกอันดามัน” แดนสวรรค์ของชาวต่างชาติ ที่เดินทางกลับเข้ามา ใช้ชีวิต ในช่วงไฮซีชั่น หรือ ไตรมาส4 เนื่องจากเป็นช่วงหยุดยาว บางประเทศ มีอากาศที่หนาวเหน็บ หนีภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงสถานการณ์โควิด ที่กินระยะเวลายาวนาน ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ หลากหลายมิติ ทั้งป่าเขานํ้าตก ทะเล พื้นราบชุมชนขนาดใหญ่ ย่านการค้า โอลด์ทาวน์แล้ว

ยังมีเกาะแก่ง ที่อยู่ในอาณาเขตของภูเก็ตทางทิศใต้และตะวันออก ที่ตื่นตาตื่นใจ การเดินทางเข้าสู่ภูเก็ตนอกจากทางเรือแล้ว สามารถเดินทางโดยรถยนต์ซึ่งมีเพียงเส้นทางเดียวผ่านทางจังหวัดพังงา โดยข้ามสะพานสารสินและสะพานคู่ขนาน คือสะพานท้าวเทพกระษัตรี หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402 และสะพานท้าวศรีสุนทรเข้าสู่ตัวจังหวัด อีกเส้นทางคือ ทางอากาศ มีท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตรองรับ โดยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ

ป่าตองกระหึ่มโลกราคาที่ดินพุ่ง

 ด้วยเสน่ห์ของภูเก็ต เมืองชายทะเลที่มีอัตลักษณ์ โดดเด่น หาดทรายสวยงามยาวขนานไปกับแผ่นดิน นํ้าทะเลใส เม็ดทราย ละเอียดขาววาวระยับเมื่อพระอาทิตย์สาดแสง ทำให้ที่นี่เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลกบ้านหลังที่สองทั้งยุโรป และเอชียโดยเฉพาะ “ป่าตอง” ไฮไลท์ ที่ต่างชาติพูดถึงดังกระหึ่มไปทั่วโลก

เป็นที่มาของต่างชาติ รู้จักชื่อของป่าตอง มากกว่าภูเก็ตหลังจากมีการปลุกเร้าผ่านทางเว็บไซต์ สำหรับนักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามามองหาที่ดินสร้างอาณาจักรลงทุนทำบ้านพักตากอากาศ รองรับพวกเดียวกันให้เข้ามาใช้ชีวิต นอกจากนักธุรกิจชาวไทยที่เข้าไปปักหมุดพัฒนาโครงการหรูพูลวิลล่ากันมาก ส่งผลให้ราคาที่ดิน พุ่งไปที่250ล้านบาทต่อไร่ โดยเฉพาะทำเลชายหาดซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมชั้นนำและอยู่ในมือนายทุนทั้งหมดแล้ว  

ปรับใหญ่ผังเมือง 

แม้ภูเก็ต จะเกิดวิกกฤตถึงสองครั้งใหญ่ เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ และสถานการณ์โควิดโรงแรมถูกสั่งปิดมากกว่า 90% ขณะการสาธารณสุขของไทยที่แข็งแกร่งเอกชนนำโรงแรมเข้าร่วมรองรับกลุ่มที่ต้องการหนีโควิดและเพื่อพักผ่อนรักษาสุขภาพ จุดประกายพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เป็นเมืองสุขภาพนอกจากการท่องเที่ยว นับตั้งตั้งแต่ สมัย “รัฐบาลประยุทธ์” และเปลี่ยนผ่านมาสู่”รัฐบาลเศรษฐา1”

ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ลงพื้นที่ถึงสองครั้งเพื่อเร่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน ขยายสนามบินภูเก็ต และ เร่งก่อสร้างสนามบินพังงา รับมาตรกา วีซ่าฟรี รวมถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อยกระดับความสำคัญภูเก็ต เป็นบ้านหลังที่สองของชาวต่างชาติ ลงทุนโครงข่าย ทางบก ระบบรางและพัฒนาสนามบินใหม่ ขยายสนามบินเดิมเพิ่มขีดความสามารถรองรับนักท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ขณะผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ต มีการปรับปรุงเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง โดยพื้นที่บริเวณรอบนอกจะเพิ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินสร้างอาคารสูงเกิน 23เมตรได้ แต่พื้นที่ใจกลางเมืองใกล้สนามบิน อาจจะ จำกัดความสูงที่ไม่เกิน23เมตร ทำให้หลายพื้นที่ขายได้มากขึ้น

ดันอันดามันเวลเนสโลกเทียบชั้นอีอีซี

นายเมธาพงศ์  อุปัติศฤงค์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จังหวัดและเอกชนในภูเก็ตต้องการเสนอให้รัฐบาลสานต่อ โครงการระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน Andaman Wellness Corridor (AWC) หรือ อันดามันเวลเนสคอริดอร์ ที่จะรวมกลุ่ม จังหวัดอันดามัน ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง ฯลฯ มุ่งเน้นเป็นเขตส่งเสริมด้านสุขภาพหรือฮับสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยรัฐบาลให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี หรือยกเว้นภาษี

เพื่อจูงใจเอกชนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการ โรงพยาบาล โรงแรมที่พักชั้นนำ เหมือนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมืองอุตสาหกรรม ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่ประกอบด้วย ชลบุรี ระยองและ ฉะเชิงเทรา เป็นต้น

 ที่ผ่านมาจังหวัดในแถบอันดามันเติบโตลักษณะต่างคนต่างอยู่ต่างกำหนดนโยบาย ทำให้ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่ออุดช่องของ ช่วงโลว์ซีซั่น ที่ยาวนาน ผู้ประกอบการขาดรายได้ และจะมีเพียงช่วงเดียวที่เป็นโอกาสทอง นักท่องเที่ยว ต่างชาติกลับเข้ามาคือ ไฮซีชั่นช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าเพียงไม่กี่เดือนหากทำได้จะภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดอันดามันจะมีแต่ช่วงไฮซีชั่นตลอดปีสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับพื้นที่และประเทศได้อย่างมหาศาล

“อนาคตต้องการให้ภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดอันดามัน เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นเขตส่งเสริมเหมือนอีอีซีที่สนับสนุนด้านการลงทุนอุตสาหกรรม ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลนี้จะดำเนินการต่ออย่างแน่นอนแม้จะพลาดเจ้าภาพเอ็กซ์โปก็ตาม”

ตำบลไม้ขาว ศูนย์รวมลักชัวรี

โดยพื้นที่ที่จะพัฒนานำร่องอยู่ที่ ตำบลไม้ขาวอำเภอถลาง ที่เป็นที่ดินที่ราชพัสดุ ของกรมธนารักษ์ มากกว่า 100 ไร่ ที่จะพัฒนาเป็นโครงการเมดดิคอลพลาซาของกระทรวงสาธารณสุขที่และจะดึงโครงการเอกชนเข้าพัฒนาซึ่งเป็นพื้นที่จัดเอ็กซ์โปเดิม ทำเลดังกล่าว มีศักยภาพสูง เป็นลักชัวรีเงียบสงบมีความเป็นส่วนตัว เป็นศูนย์รวมของโรงแรม 5 ดาว อาทิ แมริออท เรเนซองส์ เมอริเดียน ฯลฯ ที่เป็นไพรม์แอเรียต่างชาติ ทะเลสวย เหมาะกับการพักอยู่อาศัยระยะยาว นอกจากนี้ยังมี โรงพบาบาลบำรุงราษฎร์ ติด ถนนเทพกระษัตรี และพัฒนา โครงการบลูแคนยอนกอล์ฟแอนด์คันทรี คลับ ซึ่งมีทั้งที่อยู่อาศัยโรงแรม และสนามกอล์ฟ

 “อันดามัน เวลเนสคอริดอร์ จะขยายพื้นที่พักผ่อน ดูแลสุขภาพ ท่องเที่ยวได้ ทั้งแอเรียโดยจุดไอเดียให้รัฐช่วยดูโครงการหรือ บริหารพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวและเวลเนสให้เติบโตอย่างแท้จริง”

 โดยเฉพาะรัฐบาลสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อย่างการพัฒนาสนามบินพังงา ซึ่งเป็นสนามบินใหม่ ที่เรียกว่าสนามบินอันดามัน จะได้รับความสะดวก รองรับนักท่องเที่ยวเป็นบริเวณกว้าง และเชื่อมโยงกับแผนขยายสนามบินภูเก็ต ระยะที่2 รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่าง มายังสองสนามบิน ฯลฯ อำนวยความสะดวกของนักท่องเที่ยว ที่จะมากลุ่มจังหวัดอันดามัน

ดัน7บิ๊กโปรเจ็กต์ บูมภูเก็ต

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันโครงการขนาดใหญ่ที่มีแผนลงทุนเร่งด่วนในจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 7 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1.48 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และสอดคล้องกับนโยบายวีซ่าฟรี ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก เมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค ที่มีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับ 7 โครงการลงทุนดังกล่าว ประกอบด้วย

1.การพัฒนาขยายขีดความสามารถ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ระยะที่ 2) จากเดิมรองรับผู้โดยสาร 12.5 ล้านคน เพิ่มเป็น 18 ล้านคน คาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุน 6,211 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 4027 ช่วงบ.พารา-บ.เมืองใหม่ วงเงิน 510 ล้านบาท

3.โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ช่วง บ.เมืองใหม่-สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต วงเงิน 2,468 ล้านบาท                      

4.โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 (ทางลอดท่าเรือ) ที่ กม. 34+680 (ทล.402) วงเงิน 2,425 ล้านบาท

5.โครงการทางพิเศษ สายกระทู้-ป่าตอง มูลค่าลงทุน 14,670 ล้านบาท

6. โครงการทางพิเศษ สายเมืองใหม่ - เกาะแก้ว - กระทู้ วงเงิน 42,633 ล้านบาท และ

7. การพัฒนาท่าอาอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 (สนามบินอันดามัน) วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท

“โครงการลงทุนเร่งด่วน ตนได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดเตรียมพร้อมการลงทุน โดยขอให้จัดใช้งบประมาณประจำปี 2567 เริ่มนำร่องก่อสร้างโครงการ เบื้องต้นจึงคาดว่าโครงการเร่งด่วนเหล่านี้ จะทยอยเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนทันทีในปี 2567 และเริ่มงานก่อสร้าง เพื่อทยอยแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2569 โดยเฉพาะโครงการลงทุนทางบก ถนนทางหลวงต่างๆ เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้เป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว”

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) สาย MR9 สุราษฎร์ธานี - ภูเก็ต ระยะทาง 236 กม. ที่จะพัฒนาในอนาคต อีกทั้ง ได้กำหนดแผนดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองภูเก็ต สายสถานีรถไฟท่านุ่น-ท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอม รวมระยะทาง 58.5 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการดำเนินโครงการ รวมถึงโครงการรถไฟทางไกลระหว่างเมืองสายท่าอากาศยานภูเก็ต-ท่าอากาศยานกระบี่ ระยะทาง 149 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างภูเก็ต พังงา และกระบี่ รวมถึงสายสุราษฎร์ธานี- ท่านุ่น ระยะทาง 163 กิโลเมตรเชื่อมโยงจังหวัดภูเก็ตกับทางรถไฟสายใต้ไปยังโครงข่ายรถไฟทั่วประเทศ

หวังโครงข่ายดันGPPโต 2 เท่าตัว

  นายจรัล ส่างสาร เลขาธิการหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตมีรายได้หลักจากภาคการท่องเที่ยวสัดส่วนประมาณ 90% อีก 10% จากภาคการเกษตร การค้า และอุตสาหกรรม ทั้งนี้จากที่กระทรวงคมนาคมจะเร่งผลักดันแผนลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมของจังหวัดเร่งด่วนใน 7 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1.48 แสนล้านบาท (คาดจะทยอยเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนในปี 2567 และเริ่มงานก่อสร้าง ทยอยแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2569)

 “หากทุกโครงการแล้วเสร็จคาดจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด หรือ GPP ของภูเก็ตจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกว่าเท่าตัวถึง2 เท่าตัว โดย GPP จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในแต่ละปีตามโครงการที่จะทยอยแล้วเสร็จ โดยจะช่วยดึงท่องเที่ยวเข้าภูเก็ต รวมถึงท่องเที่ยวในกลุ่มอันดามันเพิ่มขึ้น ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคบริการทั้งโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮ้าส์ ภัตตาคาร ร้านค้า ร้านอาหาร การศึกษานานาชาติ ส่งเสริมสุขภาพ(Wellness) ออฟฟิศทำงาน และอื่นๆ บูมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”

 จากข้อมูลในปี 2562 (ก่อนโควิดระบาด) ภูเก็ตมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด หรือ GPP 251,813 ล้านบาท และมี GPP ต่อหัวต่อปี 428,351 บาท (เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มอันดามัน) หลังโควิดคลี่คลาย และภูเก็ตได้เปิดรับนักท่องเที่ยวตามโครงการแซนด์บ็อกซ์ในปี 2565 ทางจังหวัดมี GPP ในปีที่ผ่านมา 166,770 ล้านบาท และมี GPP ต่อหัว 226,158 บาท

 อนึ่ง แผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมของจังหวัดภูเก็ตเร่งด่วนใน 7 โครงการ ประกอบด้วย การพัฒนาขยายขีดความสามารถ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ระยะที่ 2) ,โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทางหลวง หมายเลข 4027 ช่วง บ.พารา- บ.เมืองใหม่, โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ช่วง บ.เมืองใหม่ - สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต,โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 (ทางลอดท่อเรือ),โครงการทางพิเศษ สายกระทู้ -ป่าตอง,โครงการทางพิเศษ สายเมืองใหม่ -เกาะแก้ว - กระทู้ และการพัฒนาท่าอาอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 (สนามบินอันดามัน)

อสังหาฯภูเก็ตโต รัสเชียพุ่ง

 แหล่งข่าวจาก แวดวงอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า อสังหาฯในจังหวัดภูเก็ตฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยได้รับอานิสงส์จากภาคท่องเที่ยว สำหรับภูเก็ต ชาวรัสเซีย กลับมาซื้อที่อยู่อาศัยสูง โดยเฉพาะในกลุ่มเซกเมนต์วิลล่าระดับหรูซึ่งมียอดขายปี 2565สูงสุดในรอบ 5 ปี และเมื่อพิจารณาในช่วงต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน พบว่า นักลงทุนชาวรัสเซียกับสหรัฐฯ มีกำลังซื้อมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่น่าสังเกตคือการมีชาวรัสเซียเดินทางมาเยือนประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2566ส่งผลให้ยอดขายวิลลาหรูในภูเก็ตเพิ่มขึ้นถึง 338% โดยครึ่งหนึ่งเป็นลูกค้าชาวรัสเซีย ดังนั้นแม้ว่าครั้งหนึ่งชาวจีนจะเคยเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักของภูเก็ต แต่ในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียกลับมีจำนวนมากกว่าและมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ

โครงข่ายภูเก็ต