ราคาที่ดิน EEC พุ่งรอบ 10 ปี! ระยองนำโด่งขึ้น 22.9% รับแรงหนุนโรงงานต่างชาติ

01 ต.ค. 2567 | 11:00 น.
อัพเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2567 | 11:24 น.

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) เผยดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในพื้นที่ EEC ไตรมาส 2 ปี 2567 พบราคาที่ดินใน 3 จังหวัดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะระยองเติบโต 22.9% จากทุนจีนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) เผยผลการติดตามราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

โดยได้จัดทำ “ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในพื้นที่ EEC” โดยกำหนดให้ปี 2558 เป็นปีฐาน เนื่องจากเป็นปีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และเป็นปีที่ไม่มีปัจจัยเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว 

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ขณะที่ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC (ครบวาระเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567) กล่าวว่า ในไตรมาส 2 ปี 2567 ดัชนีราคาที่ดินเปล่าในพื้นที่ EEC มีค่าดัชนีอยู่ที่ 281.5 จุด เพิ่มขึ้น 8.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) และ 5.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ)

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์

โดยเฉพาะในจังหวัดระยองที่ราคาที่ดินเติบโตอย่างชัดเจนถึง 22.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 31.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งการขยายตัวของราคาที่ดินส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนจากต่างชาติ

โดยเฉพาะทุนจากจีนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่และที่ชาร์จ ที่ส่งผลให้ที่ดินในทำเลนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดระยองเพิ่มขึ้นถึง 2.3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่เป็นปีฐาน

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของราคาที่ดินเปล่าในภาพรวมเริ่มชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5 ปีก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ที่อยู่ที่ 14% ต่อไตรมาส

ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้าและการยกเลิกมาตรการผ่อนปรน LTV รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อความสามารถในการซื้อที่ดินของผู้ประกอบการ

ในส่วนของจังหวัดชลบุรี ค่าดัชนีในไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ 332 จุด เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา ค่าดัชนีอยู่ที่ 203.5 จุด ลดลง 2.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 12.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ดร.วิชัย กล่าวเสริมว่า ภาวะชะลอตัวของการพัฒนาที่ดินเป็นผลจากต้นทุนการถือครองที่ดินและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจภายในประเทศ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบจากการยกเลิกมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการซื้อที่ดินสะสมเพื่อพัฒนาโครงการในอนาคต

 

ราคาที่ดิน EEC พุ่งรอบ 10 ปี! ระยองนำโด่งขึ้น 22.9% รับแรงหนุนโรงงานต่างชาติ สำหรับทำเลที่มีการขยายตัวของราคาที่ดินสูงสุด 5 อันดับแรกในไตรมาสนี้ อันดับ 1 ได้แก่ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งมีการขยายตัวของราคาถึง 52.5% เนื่องจากทำเลมีระบบคมนาคมที่หลากหลายและเป็นแหล่งงานในนิคมอุตสาหกรรม

และอำเภออื่น ๆ ที่มีการเติบโตสูงตามมาได้แก่ อำเภอแกลง 34.5% อำเภอบางปะกง 31.0% อำเภอสัตหีบ 26.8% และอำเภอนิคมพัฒนา 17.3%

ทั้งนี้ ในภาพรวม พื้นที่ EEC ยังคงมีศักยภาพในการเติบโต โดยเฉพาะที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย