"ชัชชาติ" ชี้อนาคตกรุงเทพฯ เดินหน้ามิชชั่นสู่เมืองน่าอยู่และยั่งยืน

02 ต.ค. 2567 | 23:30 น.

ชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. เผยแนวทางกรุงเทพมหานคร สู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืนในอนาคต ย้ำความท้าทายของการมีส่วนพัฒนาร่วมกันทุกฝ่าย

กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยสีสันและความคึกคัก แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้คนก็กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจราจร ระบบโครงสร้าง สิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียวที่จำกัด และความเหลื่อมล้ำทางสังคม 

ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาวะของชาวกรุงเทพฯ ที่ทำให้การยกระดับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนกลายเป็นความท้าทายสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเร่งแก้ไข

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เผยบนเวทีเสวนาในหัวข้อ "Pathways to a Sustainable Urban Future" ถึงวิสัยทัศน์ "กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน" และแนวทางการพัฒนากรุงเทพฯ สู่การเป็นเมืองยั่งยืนว่า การพัฒนาเมืองให้เติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ต้องมีความยั่งยืนในชีวิตของประชาชนด้วยเช่นกัน 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน ในการลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

ด้วยนโยบายสำคัญ “กรุงเทพฯ 9 ดี” ได้แก่ บริหารจัดการดี สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพดี เดินทางดี ปลอดภัยดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี สร้างสรรค์ดี เรียนดี และมียัง 216 แผนปฏิบัติการที่ปรับใช้อยู่ในปัจจุบัน

ซึ่ง กทม. ได้ให้ความสำคัญกับโครงการที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อาทิ สนับสนุนให้ลดการใช้รถส่วนตัวโดยพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและทางเท้าให้เอื้อต่อการเดินทางที่ยั่งยืน

เพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมืองและสวนขนาดเล็กเข้าถึงชุมชน การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยส่งเสริมการคัดแยกขยะในกลุ่มผู้ประกอบการ และการปรับปรุงระบบระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าหมายสำหรับสำนักงานเขต กทม. ปี 2567 ในการพัฒนาถนน 124 กิโลเมตร ติดตั้งและปรับปรุง ไฟถนน 31,900 ดวง ติดตั้งและปรับปรุง ไฟริมคลอง 9,500 ดวง ปลูกต้นไม้ 200,000 ต้น ปรับปรุงจุดฝืดจราจร เพิ่มสวน 15 นาที 153 แห่ง

แก้ไขจุดเสี่ยงอาชญากรรมและเพิ่มความปลอดภัย 370 แห่ง ปรับปรุงทางเท้า 312 กิโลเมตร ยกเลิกการค้าบนทางเท้า 100 จุด พัฒนา Hawker center 20 แห่ง ปรับปรุงจุดเสี่ยงน้ำท่วม 212 แห่ง เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง รวมถึงให้ความสำคัญในการร่วมมือกับภาคเอกชนพัฒนาศูนย์กิจกรรมต่างๆ และดูแลกลุ่มเปราะบาง เช่น การจัดตั้งธนาคารอาหาร 50 แห่งทั่วกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ มีเป้าหมายสูงสุด คือการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ 1 ใน 50 อันดับแรกของโลกภายในปี 2570 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนและตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

ด้าน รศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยในช่วงเสวนาหัวข้อ “Time to CHANGE: Shaping Bangkok's Future” ว่า โครงสร้างเมืองส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของประชากรอย่างมีนัยยะสำคัญ 

โดยสถิติจาก WHO ระบุว่า ประชากรกรุงเทพฯ ราว 76% เสียชีวิตจากโรค NCD ซึ่งมีสาเหตุจากการนั่งนาน 75% ของประชากรมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน (Obesity) อีกทั้งกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย

ดังนั้น การพัฒนา Transit-Oriented Development (TOD) จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในเขตที่มีการจราจรติดขัด เช่น บริเวณสุขุมวิทและศรีนคริทร์ที่มีทั้งที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ทำให้มีความหนาแน่นสูง

\"ชัชชาติ\" ชี้อนาคตกรุงเทพฯ เดินหน้ามิชชั่นสู่เมืองน่าอยู่และยั่งยืน

โดยเฉพาะการเดิน ในปัจจุบันมีความท้าทายอย่างมากในการทำอย่างไรให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เดินได้ และเดินดี ซึ่งหมายถึงนอกจากจะเดินได้แล้ว ยังต้องเดินสะดวก ปลอดภัย และน่ารื่นรมย์ โดยจากผลสำรวจของเรามีเพียง 54% ของพื้นที่ในกรุงเทพเท่านั้นที่สามารถเดินได้ และเดินดี

นอกจากจะส่งผลโดยตรงถึงสุขภาวะของประชากรแล้ว การพัฒนาเมืองให้เดินได้และเดินดี ยังส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการกระจายตัว สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับรายย่อย โดยผ่านการท่องเที่ยว

ยกตัวอย่างเช่น ปารีส เมืองท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดิน ก็จะเพิ่มการเข้าถึงร้านค้ารายเล็กต่างๆ มากขึ้น ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องการปรับปรุงทางเท้า แต่เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่อไปในอนาคต