อีอีซีคึก! แก้สัญญาไฮสปีด3สนามบินฉลุย ลงนาม ธ.ค.67 ชงครม.ไฟเขียว ลุยตอกเข็ม

12 ต.ค. 2567 | 07:26 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ต.ค. 2567 | 08:40 น.

อีอีซีคึก!แก้สัญญาไฮสปีด3สนามบินผ่านฉลุย ลงนามธ.ค.67 หลัง บอร์ดEEC ไฟเขียวชงครม. ทบทวนมติ ครม.  27 มีนาคม 2561   ภายในเดือนต.ค. 67 พร้อม ออก NTP ให้เริ่มงานได้ไม่เกินเดือนม.ค. 2568

รัฐบาลเร่งรัดการลงลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานรัฐซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่แม่เหล็กสำคัญดึงดูดภาคเอกชนทั้งไทยและต่างชาติขนเม็ดเงินเข้าลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีโดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง -สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือไฮสปีด 3 สนามบิน ระยะทาง220 กิโลเมตร มูลค่า2.24แสนล้านบาท

เชื่อมการเดินทางผ่าน3สนามบินหลักดึงนักลงทุน ดีเวลอปเปอร์ภาคอสังหาริมทรัพย์นักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ตลอดจนเชื่อมการเดินทางเข้าสู่ศูนย์กลางธุรกิจใจกลางกรุงเทพมหานครที่มีบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพี คู่สัญญา การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เป็นผู้รับสัมปทาน  หลังรอคอยมานาน ไม่ต่ำกว่า6ปีใน3รัฐบาล 

ผ่านฉลุยแก้สัญญาไฮสปีด

 

 

นับตั้งแต่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลักดัน ต่อยอดอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่พัฒนา กว่า30ปี   ที่จะเปิดประตูการค้าและการลงทุนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียแปซิฟิกโดยมีรถไฟความเร็วสูงเป็นเรือธง

 ที่มีแนวคิด พัฒนา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินสนับสนุนการเดินทางการขนส่งสินค้าและเป็นปัจจัยบวกต่อการท่องเที่ยวเชื่อมต่อจากกรุงเทพฯ เข้าสู่ เมืองอีอีซีไม่เกิน 60 นาที  มีรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ PPP Net Cost ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี

แบ่งเป็น ออกแบบและก่อสร้าง 5 ปี และระยะเวลาดำเนินการ 45 ปี ซึ่งผู้ชนะประมูลได้สิทธิบริหารโครงการระยะทาง 220 กิโลเมตร รวมการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีมักกะสัน 150 ไร่ รวมทั้งพื้นที่โดยรอบสถานีศรีราชา 25 ไร่ และดูเหมือนการเดินหน้าลงทุนจะไปได้ดี

จากสถานการณ์โควิดส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อธุรกิจการลงทุน รวมถึงโครงการขนาดใหญ่อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน  จึงนำมาสู่การแก้ไขสัญญา โดยรัฐผ่อนคลายกฎกติกามากขึ้นเพื่อให้โครงการเดินต่อได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทซ ซึ่งรัฐบาลเศรษฐา ได้ให้ความสำคัญและสานต่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ แต่ ต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีเสียก่อน และต่อมาได้สานต่อโดยรัฐบาลแพทองธาร  

 ล่าสุด พื้นที่อีอีซีน่าจะคึกคักขึ้นเมื่อ นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีมติเห็นชอบหลักการการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา)

 โดยการปรับปรุงสัญญาร่วมลงทุนเพื่อผลักดันให้โครงการฯ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ บนพื้นฐานที่ภาครัฐไม่เสียประโยชน์ และภาคเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร โดยจะเสนอการแก้ไขสัญญาต่อ ครม.ภายในเดือนต.ค. 2567

เพื่อพิจารณาเห็นชอบการทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 และให้คู่สัญญาร่วมกันเจรจาร่างสัญญาแก้ไข และเสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ พิจารณา ก่อนนำส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา จากนั้น ให้ นำเสนอ กพอ. และ ครม. อีกครั้ง เพื่อให้ ครม. เห็นชอบการแก้ไขสัญญา คาดว่าจะลงนามในสัญญาฉบับแก้ไขได้ภายในเดือนธ.ค. 2567 และออก NTP ให้เริ่มงานได้ไม่เกินเดือนม.ค. 2568

สำหรับ 5 ประเด็น การแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

1.วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิม เมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงฯ รัฐจะแบ่งจ่ายเป็นจำนวน 149,650 ล้านบาท เป็น จ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท. ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท โดยเอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม รวมเป็นจำนวน 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงฯ ได้ภายใน 5 ปี ทั้งนี้ กรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของภาครัฐ (รฟท.) ทันทีตามงวดของการจ่ายเงิน

 2.กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่า ๆ กัน โดยต้องชำระงวดแรกณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้ เอกชนจะต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิ ARL รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท. ต้องรับภาระ

3.กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการฯ ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ และเป็นผลให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกันต่อไป

 4.การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท. สามารถออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมดนี้

5.การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น

“ที่ประชุม กพอ. มีมติให้ สกพอ. ดำเนินการนำเสนอหลักการแก้ไขปัญหาโครงการฯ ใน 5 ประเด็นดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบการทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 และให้คู่สัญญาร่วมกันเจรจาร่างสัญญาแก้ไข และเสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ พิจารณา และนำส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนนำเสนอ กพอ. และ ครม. เพื่อให้ ครม. เห็นชอบการแก้ไขสัญญาอีกครั้ง ก่อนคู่สัญญาจะลงนามในสัญญาฉบับแก้ไขต่อไป”