10 ทำเลทองที่ดิน ราคาแพงสุด "สยาม -เพลินจิต -ชิดลม" แชมป์ ตร.ว.ละ3.7ล้าน

27 พ.ย. 2567 | 20:45 น.

เปิด10 อันดับ ที่ดินใจกลางเมืองกทม. ราคาแพงสุดในไทย "สยาม -เพลินจิต ชิดลม" แชมป์ ปี6ึ7 ตารางวาละ3.7 ล้านบาท "โสภณ พรโชคชัย" ยัน ทำเลแนวรถไฟฟ้า ขยับต่อเนื่อง สวนทางตลาดอสังหาฯ -เศรษฐกิจชะลอ ชี้ชัดเป็นย่านค้าปลีกศูนย์การค้า

 

ที่ดินทำเลใจกลางเมือง ย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD)  ยังเป็นที่ต้องการของนักลงทุน แม้ราคาขยับสูง เนื่องจากมองว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยนักธุรกิจทั้งไทยและต่างชาติ ให้ความคุ้นเคย ซึ่งมีทั้งรูปแบบลิสโฮลด์และฟรีโฮลด์ ที่มองว่า ทุกตารางนิ้วพัฒนาเต็มทั้งหมดแล้ว

ที่ดินกลางใจเมือง

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด หรือ AREA ระบุว่า ราคาที่ดินในเขตกรุงเทพมหานคร  โดยเฉพาะใจกลางเมือง แนวเส้นทางรถไฟฟ้า แนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจชะลอตัวก็ตาม  

ที่เป็นไฮไลต์ ทำเลไข่แดง  อย่าง “สยามสแควร์ ชิดลม เพลินจิต”  ครองแชมป์ราคาที่ดินสูงสุด และปรับตัวขึ้นทุกปี มาตลอดตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด -19 จนถึงปัจจุบัน เฉลี่ย 3-5%  โดยปี 2565 อยู่ที่ 3.5 ล้านบาท ต่อตารางวาละ ปี 2566 อยู่ที่ 3.6 ล้านบาท ต่อตารางวา ปี 2567 ปรับเพิ่มเป็นตารางวาละ 3.7 ล้านบาท

เนื่องจากเป็นย่านธุรกิจแหล่งงานขนาดใหญ่และ แหล่งรวมค้าปลีกสำคัญของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้สูงสุดเมื่อเทียบกับการสร้างคอนโดมิเนียม ออฟฟิศบิลดิ้ง โรงแรม ซึ่งได้ผลตอบแทนค่าเช่าตํ่ากว่า ในขณะที่เทรนด์ธุรกิจค้าปลีกยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ส่วนโรงแรมมีความไม่แน่นอนทางธุรกิจอยู่มาก

ทั้งนี้ ในด้านผลตอบแทนพื้นที่ค้าปลีก มีค่าเช่าเฉลี่ยเดือนละ 3,000-5,000 บาท/ตารางเมตร เทียบกับค่าเช่าสำนักงานอยู่ที่เดือนละ 800-1,200 บาท/ตารางเมตร

สำหรับ สถิติ 10 อันดับแรกของราคาที่ดินที่มีราคาสูงสุดในเขตกรุงเทพมหานคร

อันดับ 1 ทำเลสยาม-เพลินจิต-ชิดลม ปี 2566 ราคาตารางวาละ 3.6 ล้านบาท 2567 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3.75 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.16%

อันดับ 2 ทำเลวิทยุ ปี 2566 ราคาตารางวาละ 2.95 ล้านบาท ปี 2567 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3.10 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.08%

อันดับ 3 ทำเลสุขุมวิท-ไทม์สแควร์ ปี 2566 ราคาตารางวาละ 2.80 ล้านบาท ปี 2567 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.94 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.16%

อันดับ 4 ทำเลสุขุมวิท 21 อโศก ปี 2566 ราคาตารางวาละ 2.60 ล้านบาท ปี 2567 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.73 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.16%

 อันดับ 5 ทำเลสีลม ปี 2566 ราคาตารางวาละ 2.55 ล้านบาท ปี 2567 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.70 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.88%

 อันดับ 6 ทำเลสาทร ปี 2566 ราคาตารางวาละ 2.25 ล้านบาท ปี 2567ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.40 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.66%

 อันดับ 7 ทำเลสุขุมวิท เอกมัย ปี 2566 ราคาตารางวาละ 1.85 ล้านบาท ปี 2567 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.95 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.40%

 อันดับ 8 ทำเลเยาวราช ปี 2566 ราคาตารางวาละ 1.80 ล้านบาท ปี 2567ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.90 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.55%

 อันดับ 9 ทำเลพญาไท ปี 2566 ราคาตารางวาละ 1.75 ล้านบาท ปี 2567 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.85 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.71%

 อันดับ 10 ทำเลพหลโยธินตอนต้น ปี 2566 ราคาตารางวาละ 1.70 ล้านบาท ปี 2567 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.80 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.88%

อย่างไรก็ตามที่น่าจับตาทำเลพระราม4 มีโครงการขนาดใหญ่มิกซ์ยูสเกิดขึ้นมากโดยเฉพาะล่าสุด เปิดโครงการ วันแบงค็อก อย่างเป็นทางการ และ โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ที่จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปีหน้า ทั้งศูนย์การค้าและคอนโดมิเนียมหรู คาดว่าราคาที่ดินโดยรอบจะขยับแรง!!

หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,048 วันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567