เอกชนจี้รัฐลุยต่อ ปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ยกนิ้วรัฐลดค่าไฟ

16 ก.ย. 2566 | 11:36 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2566 | 11:43 น.

บิ๊กหอการค้ายกนิ้วรัฐบาลลดค่าไฟฟ้าทันที ช่วยลดค่าใช้จ่ายประชาชน ลดต้นทุนผู้ประกอบการ จี้ลุยต่อยกเครื่องโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบให้เหมาะสม กระทุ้งเร่งตั้ง กรอ.พลังงานให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหา

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) รัฐบาลใหม่นัดแรก (13 ก.ย. 2566) มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีมติเห็นชอบมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนหลายมาตรการ ทั้งลดค่าไฟฟ้า ลดราคานํ้ามันดีเซล พักหนี้เกษตรกรและเอสเอ็มอี ฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน เป็นต้น

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การลดค่าไฟฟ้าทันทีเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนและลดต้นทุนผู้ประกอบการถือเป็นเรื่องที่ดี แต่คงต้องคำนึงถึงภาระทางการคลังของรัฐบาล ซึ่งในระยะกลางและระยะยาวเอกชนอยากให้รัฐบาลดำเนินการยกเครื่องโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบให้สอดคล้องกับทิศทางความต้องการและรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในราคาที่เหมาะสม และทำให้ประเทศสามารถแข่งขันได้

เอกชนจี้รัฐลุยต่อ ปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ยกนิ้วรัฐลดค่าไฟ

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการของไทยมีภาระต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง เฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนค่าไฟฟ้า หากพิจารณาจากความสามารถในการแข่งขันของประเทศเทียบกับประเทศข้างเคียง เช่นเวียดนาม ที่มีค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.88 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ภาคเอกชนอยากให้มีการพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน หรือ กรอ.พลังงาน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาชน เข้าไปมีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหาและเสนอแนะทางออกในการปรับปรุงโครงสร้างพลังงานของประเทศไปในทิศทางที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ต่อไป

กรณีที่นายกรัฐมนตรีประกาศจะผลักดันให้เศรษฐกิจ หรือจีดีพีของไทยขยายตัวปีละไม่ตํ่ากว่า 5% และปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าที่เป็นธรรม (จากนโยบายหาเสียงจะปรับขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาทต่อวันภายในปี 2570) เรื่องนี้เอกชนเห็นด้วยกับคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีที่ว่า หากจีดีพีไทยเติบโตได้ 5% ค่าแรงก็จะปรับขึ้นตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตรงนี้เป็นส่วนที่ภาคเอกชนให้การสนับสนุนอยู่แล้ว โดยการปรับขึ้นค่าแรงตามที่หอการค้าไทยได้มีการหารือกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต้องมีการปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการไตรภาคีในการกำหนดค่าแรงที่เหมาะสมในแต่ละจังหวัด และเห็นว่าการขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าไม่ควรขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ