นางสาววันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยว่า บริษัทยังคงมองหาการลงทุนโครงการใหม่ทั้งในประเทศ และต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัท โดยจะเน้นไปที่พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/66 กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการ รวม 1,204.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 593.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
ส่วนผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกประจำปี 2566 ของบริษัทและบริษัทย่อย สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีรายได้รวมจากการขายและให้บริการ จำนวน 2,386.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 2,019.1 ล้านบาท และบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ จำนวน 1,239.7 ล้านบาท ลดลง 1% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรอยู่ที่ 1,254.1 ล้านบาท โดยคิดเป็นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 1.09 บาท
โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานงวดวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท จำนวน 1,055,790,000 หุ้น รวมเป็นจำนวนเงิน 316,737,000 บาท ซึ่งกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 28 สิงหาคม 2566 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 8 กันยายน 2566
นางสาววันดี กล่าวอีกว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็นผลงมาจากบริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ “SPR” (บริษัทในเครือ SPCG) มีรายได้จำนวน 601.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 749% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 70.8 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ เดินหน้าขยายการติดตั้งอย่างต่อเนื่อง
โดยได้มีการติดตั้งไปแล้วกว่า 200 เมกะวัตต์ เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกระแสการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่มีความต้องการมากขึ้น ด้วยนโยบายที่ประกาศให้ประเทศไทยจะเข้าสู่การใช้พลังงานในรูปแบบ Carbon Neutral ในปี 2050 และเป็น Net Zero ในปี 2065
อีกทั้งต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้ลดลงถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน ซึ่งนอกจากจะมีราคาสูงแล้ว ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญของโลกปัจจุบัน โดย SPR ได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการตลาดและกลยุทธ์ในการขายอยู่ตลอด เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทางเลือกให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ยังคงให้การตอบรับเป็นอย่างดี เพราะเมื่อลูกค้าติดตั้งระบบโซลาร์รูฟของบริษัทแล้ว ต่างเห็นผลลัพธ์ที่ดี สามารถลดค่าไฟได้ทันทีเมื่อติดตั้ง อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานทำให้กิจการของลูกค้ามีกำไรเพิ่มขึ้น
ส่วนโครงการโซลาร์ฟาร์ม Fukuoka Miyako Mega Solar ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 67 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็น 2 Phase ได้แก่ North Phase 23 เมกะวัตต์ (MW) และ South Phase 44 เมกะวัตต์ (MW) ได้ดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ครบทั้ง 2 Phase เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2564 และเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ตามลำดับ โดยโครงการดังกล่าวมีงบการลงทุนทั้งสิ้น 3,140 ล้านเยน หรือ ประมาณ 805 ล้านบาท โดย SPCG ถือหุ้นที่ 10% คิดเป็นเงินจำนวน 314 ล้านเยน หรือประมาณ 91 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT 36 เยนต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า North Phase 18.7 ปี และ South Phase 17.8 ปี โดยมี Kyushu Electric Power Co., Inc. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า โดยโครงการดังกล่าวสามารถผลิตไฟฟ้าได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
ด้านโครงการ Ukujima Mega Solar Project ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 480 เมกะวัตต์ (MW) งบการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 178,758 ล้านเยน หรือประมาณ 60,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 17.92% หรือคิดเป็นเงินจำนวน 9,000 ล้านเยน หรือประมาณ 2,700 ล้านบาท บริษัทจะชำระเงินงวดที่เหลือภายในปี 2566 โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้ามากขึ้น อยู่ระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในเดือนกรกฎาคม 2568
“เชื่อว่าโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่นทุกโครงการที่บริษัทลงทุน นอกจากจะสามารถช่วยลดสภาวะโลกร้อน หรือ Climate Change แล้ว ยังสร้างผลตอบแทนที่ดีกลับคืนมาให้บริษัทได้ในอนาคต”