Net Zero ทุกส่วนต้องปรับตัว กุญแจแห่งความสำเร็จ

05 ก.ย. 2566 | 12:33 น.
อัพเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2566 | 12:50 น.

TGO ชี้ ทั่วโลกให้ความสำคัญลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่ Net Zero กุญแจแห่งความสำเร็จ ทุกภาคส่วนเร่งปรับตัว สร้างกลไกคาร์บอนเครดิต

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)หรือTGOในงานสัมมนา “Road to Net Zero โอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ” จัดโดยฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย และเนชั่นกรุ๊ป ว่า วันนี้ทั่วโลกต่างเห็นภัยอันตรายจากการปล่อยก๊าชเรือนกระจก ที่กลายมาเป็นศัตรูสำคัญของเรา ซึ่งทุกภาคส่วนต้องเร่งดำเนินการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อนำไปสู่เน็ตซีโรคาร์บอน จากนี้ไทยต้องปรับตัวไปสู่ลดการปล่อยไปจนถึงจะต้องไม่ปล่อยคาร์บอนหรือมี ความเป็นกลางทางคาร์บอน

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)หรือTGO

 ทั้งนี้ประเทศไทยได้มีโอกาสไป COP27 ที่อียิปต์ ประกาศแผนระยะสั้นในปี 2030 ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกจากเดิม 20% ปรับเป็น 30% และเพิ่มเป็น 40% หากได้รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศทั้งด้านการเงิน และเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจต่างๆ ที่จะส่งออกไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว นักลงทุน การเงินสีเขียว การประชุมต่างจะผลักดันให้เศรษฐกิจดีขึ้น

 

 

แต่สิ่งสำคัญที่ไทยให้ความสำคัญคือภาคการขนส่งที่ต้องปรับตัว เน้นการลดการใช้น้ำมันหันมาใช้อีวีให้มากขึ้นให้ได้86%ของการใช้น้ำมัน เลิกการใช้ถ่านหินส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจน รวมไปถึงมาตรการต่างๆทีแต่ละหน่วยงานมีโรดแมปไม่ว่าจะด้านพลังงาน ซึ่งจะมีการนำเสนอรัฐบาลใหม่ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อผลิตCO2 เป็นต้น

“ทั่วโลกพยายามผลักดันในเรื่องของก๊าซเรือนกระจกที่หลุดลอยไปยังชั้นบรรยากาศให้เป็นกลางเร็วที่สุด หรือ ยุติการปล่อย ภายใน 2050 นับว่าเป็นกระแสโลกที่มาแรงมาก  ประเทศไทยประกาศเป้าหมายใน COP26 ที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065 เท่ากับว่าไทยจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 300 กว่าล้านตัน เหลือ 120 ล้านตัน ที่เรามีโอกาสจะเก็บได้ ซึ่งปัจจุบันสามารถเก็บได้ 86 ล้านตันต้องเก็บให้มากถึง 120 ล้านตัน

ทั้งนี้TGO เองก็มีแผนยุทธศาสตร์ที่จะบูราณาการร่วมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเป็นเป้าหมายของประเทศและจะนำเสนอรัฐบาลใหม่ด้วยเพื่อผลักดันไทยไปถึงจุดหมาย Net Zero เพราะปัจจุบันองค์กรหลายแห่งเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กันมากขึ้น ซึ่งภาครัฐเองต้องขับเคลื่อน ส่งเสริมอย่างจริงจังเพื่อผลักดันการลงทุนใหม่ๆในไทย

ทั้งนี้ภาครัฐขับเคลื่อนการดำเนินงานภายในประเทศ 6 ด้าน คือ

1. ด้านนโยบาย

2. ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การส่งเสริม แซนด์บ็อกซ์โปรเจกต์ที่เกี่ยวกับอินโนเวชั่นเกิดขึ้นได้

3. ด้านการค้าและการลงทุน การผลักดันให้เกิดการลงทุนใหม่ หลายบริษัทตอนนี้พูดว่า การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นโอกาส และเป็นเรื่องของธุรกิจมากกว่าเป็นค่าใช้จ่าย สิ่งนี้เอง ความเข้มแข็งของยุทธศาสตร์ BCG จะผลักดันให้เรื่องนี้เป็นเรื่องการลงทุน และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ การส่งเสริม BOI การส่งเสริมด้านภาษี ผลักดันไปสู่การลงทุนเหล่านี้

4. ด้านพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต การทำให้โปรเจกต์ลดก๊าซเรือนกระจก เป็นระบบการรับรองในลักษณะ Certification เป็นคาร์บอนเครดิต เป็นระบบมาตรฐานโลกที่ยอมรับในการนำเอาผลลัพธ์จากการประเมินโครงการอย่างละเอียด ไปใช้ในการออฟเซ็ต ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการรับรองคาร์บอนเครดิต และนำเอาคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ที่ธุรกิจไม่ถูกควบคุมแต่สมัครใจทำโครงการดีๆ และนำเครดิตไปใช้ เกิดความต้องการใช้คาร์บอนเครดิตมากขึ้นในอนาคต

5. ด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บ/ดูดกลับ ก๊าซเรือนกระจก

6. ด้านกฎหมาย รัฐกำลังออกร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก็มีมาตรการสำหรับผู้ที่ปล่อยคาร์บอนเยอะ ส่วนผู้ที่ไม่ปล่อยเยอะ ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ก็สามารถทำคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจได้ กลไกเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐกำลังส่งเสริม และโปรเจกต์ที่ส่งเสริมให้ประเทศในบริเวณพื้นที่อ่าวไทย หรือ แม่เมาะ จะสามารถเป็นแหล่งดูดจับ กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้หรือไม่ รัฐส่งเสริมทุกภาคส่วน ทุกรูปแบบให้เกิดขึ้น