กรุงศรีฯ ปรับพอร์ต รับ ESG ปล่อยสินเชื่อธุรกิจใส่ใจสิ่งแวดล้อม

13 ธ.ค. 2566 | 08:07 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2566 | 09:01 น.

กรุงศรีฯ ปรับพอร์ตสินเชื่อเป็นสีเขียวมากขึ้น รับ ESG หนุนธุรกิจใส่ใจสิ่งแวดล้อมเข้าถึงเงินกู้ พร้อมให้ความรู้ธุรกิจก้าวข้ามไปสู่ความยั่งยืน

นายประกอบ เพียรเจริญ กรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวกล่าวในงาน SUSTAINABILITY FORUM 2023  หัวข้อเรื่อง “Sustainable Finance ถอดสูตรการเงิน สู่ความยั่งยืน” ว่า จากทิศทางการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่ความยั่งยืน หรือ Taxonomy โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้สถาบันการเงินต้องสร้างพอร์ตสินเชื่อที่เป็นสีเขียวให้มากขึ้น 

นายประกอบ เพียรเจริญ กรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ในส่วนของธนาคารเองต้องเร่งจัดหมวดหมู่ลูกค้า เพื่อปรับพอร์ตให้สอดคล้อง ซึ่งแนวการพิจารณาสินเชื่อนั้น นอกจากจะพิจารณาในเรื่องของงบดุลแล้ว จะต้องดูว่า ธุรกิจนั้นๆ ให้น้ำหนักในเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสังคมหรือไม่ โดยธนาคารเองจะต้องช่วยให้ความรู้เพื่อให้ลูกค้าสามารถปรับตัวก้าวข้ามไปสู่ธุรกิจสีเขียว

อย่างไรก็ดี ก่อนที่ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อนั้น ในเรื่องของแผนธุรกิจหรือข้อมูลของลูกค้าที่จะก้าวไปสู่ธุรกิจสีเขียว จะต้องได้รับการคอนเฟิร์มว่า เป็นข้อมูลที่ถูกต้องด้วย ดังนั้น จึงต้องมีผู้ที่จะมายืนยันในข้อมูลดังกล่าว ซึ่งถือเป็นความท้าทายของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อที่ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องควบคู่ไปกับงบการเงิน นอกจากนี้ ความร่วมมือของลูกค้าที่จะก้าวไปสู่ธุรกิจสีเขียวก็เป็นสิ่งสำคัญ หากว่า ลูกค้าไม่ร่วมมือให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือมอง ESG เป็นแค่ทางเลือก ไม่ใช่ทางรอด ก็จะถือเป็นกับดักที่เราจะก้าวไปสู่ธุรกิจสีเขียว

“เราต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับลูกค้า รวมถึง การสื่อสารให้คนในองค์กร โดยใส่ ESG เข้าไปในดีเอ็นเอพนักงานทุกคน ซึ่งการปล่อยสินเชื่อเราไม่สามารถวิเคราะห์ผ่านงบการเงินได้หรือพูดคุยได้อย่างเดียว แต่เราต้องวิเคราะห์ไปถึงแผนที่ลูกค้าจะมุ่งสู่ธุรกิจสีเขียวเพื่อลดต้นทุนได้อย่างไร ซึ่งเราต้องมีดาต้าของลูกค้าที่ชัดเจน” 

ทั้งนี้ ปัจจุบันลูกค้าที่ต้องติดต่อค้าขายกับต่างประเทศได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจเพื่อรองรับESGแล้ว เพราะถ้าเขาไม่ทำ จะโดนกีดกันทางการค้า แต่สำหรับลูกค้าที่ทำธุรกิจในไทยนั้น ยังไม่เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวมากนัก เพราะมองว่า สินค้าที่ผลิตออกมานั้น ยังสามารถขายได้ โดยแม้ว่า จะธุรกิจในไทยจะไม่ได้มีการติดต่อกับธุรกิจต่างประเทศ แต่แนวโน้มธุรกิจในไทยที่เป็นซัพพลายเชนกับต่างประเทศสูงขึ้น ดังนั้น จึงเห็นว่า ธุรกิจในไทยต้องปรับเปลี่ยนมายเซ็ต หรือ มุมมองในเรื่องดังกล่าวใหม่

“ผมเห็นว่า ทุกธุรกิจต้องนำ ESG มาเป็นกลยุทธ์ เพราะต่อไป ESG ไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด และ ESG ควรถูกนำมาเป็น license to operate”