ยูโอบีย้ำบทบาทธนาคารรักษ์โลก หนุน 6 กลุ่มหลักลูกค้าบรรลุเป้า Zero Carbon

14 ธ.ค. 2566 | 06:05 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2566 | 06:26 น.

"ยูโอบี" เน้นย้ำบทบาทสำคัญของสถาบันการเงิน ในการให้ความสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) พร้อมหนุน "6 อุตสาหกรรมหลัก" บรรลุผลในปี 2050

 

เมลิซซา มอย (Melissa Ker-Sia Moi) หัวหน้าธุรกิจเพื่อความยั่งยืน สายงานความยั่งยืนองค์กร ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวใน งานสัมมนา SUSTAINABILITY FORUM 2024 จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2566 ภายใต้หัวข้อ Sustainable Finance: How It is Changing the World ว่า สถาบันการเงินมีบทบาทสำคัญในการให้ความสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน (transition) และมุ่งหน้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวถือเป็นพันธกิจระดับโลก

เมลิซซา มอย หัวหน้าธุรกิจเพื่อความยั่งยืน สายงานความยั่งยืนองค์กร ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย

โดยในงานประชุม COP28 ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติเมื่อเร็วๆนี้ ก็ได้มีการพูดคุยในเรื่องเป้าหมายดังกล่าวในวงกว้าง ซึ่งครอบคลุมถึงประเด็นการติดตามตรวจสอบ การวัดผล และทำอย่างไรที่จะช่วยให้องค์กรธุรกิจเอกชนทำได้จริงตามที่ได้ตั้งพันธกิจเป้าหมายไว้ มีการเรียกร้องให้บริษัทต่างๆแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้ ตลอดสายห่วงโซ่การผลิตเลยทีเดียว ไม่ใช่เฉพาะในองค์กรของตัวเองเท่านั้น

“สำหรับธนาคารยูโอบีนั้น เราไม่เพียงเป็นสถาบันการเงินที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในส่วนของภายในองค์กรเราเอง แต่เรายังให้การสนับสนุนบริษัทลูกค้าในการเปลี่ยนผ่าน (transition) สู่การเป็นองค์กรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนบรรลุเป้าหมาย net zero เลยด้วย ซึ่งสอดคล้องกับกระแสเรียกร้องของประชาคมโลกที่ต้องการให้ธุรกิจเอกชนและสถาบันการเงินสร้างการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจ” 

เมลิซซาเปิดเผยว่า ธนาคารยูโอบีมีเป้าหมายการเป็นสถาบันการเงินแถวหน้าในอาเซียนที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงการเติบโตทางธุรกิจที่เคียงคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นมา ยูโอบีได้ประกาศพันธกิจเป้าหมายมุ่งหน้าสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) โดยกำหนด 6 กลุ่มหลักของธุรกิจลูกค้าที่ทางธนาคารมุ่งเน้นให้ความสนับสนุนในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมาย ประกอบด้วย

  • อุตสาหกรรมพลังงาน
  • อุตสาหกรรมรถยนต์
  • อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
  • อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์
  • อุตสาหกรรมการก่อสร้าง
  • และอุตสาหกรรมเหล็กกล้า

ซึ่งแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมที่กล่าวมา มีการตั้งเป้าหมายและกรอบเวลาที่จะบรรลุเป้าหมายแตกต่างกันไป

ทั้งนี้ 6 กลุ่มอุตสาหกรรมที่กล่าวมา เป็นลูกค้าสินเชื่อของยูโอบี (corporate lending) รวมกันในสัดส่วนถึง 60%

ยูโอบีย้ำบทบาทธนาคารรักษ์โลก หนุน 6 กลุ่มหลักลูกค้าบรรลุเป้า Zero Carbon

ผู้บริหารของยูโอบีขยายความเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการมุ่งหน้าสู่เป้าหมายการเป็นสถาบันการเงินที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและให้ความสนับสนุนลูกค้าของธนาคารในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นองค์กรที่ปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ธนาคารยูโอบีมี 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ

  1. พัฒนาแผนงานการลดการปล่อยคาร์บอน (decarbonisation) สำหรับแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย ไปจนถึงการตรวจสอบติดตามความคืบหน้าและวัดผล เพื่อผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
  2. ให้ความสนับสนุนลูกค้า ทั้งในด้านคำแนะนำปรึกษา และความสนับสนุนทางการเงิน เพื่อให้ลูกค้าสามารถบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน
  3. ปลูกฝังแนวคิดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (net zero) ในการดำเนินธุรกิจของธนาคารในทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องและเต็มรูปแบบเพื่อการบรรลุเป้าหมายภายในปี 2050
  4. ให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ ผู้ปะกอบการในอุตสาหกรรม สมาคมการค้า และพันธมิตร เพื่อความร่วมมือที่ประสานไปในทิศทางเดียวกัน

“หนึ่งปีที่ผ่านมา เรามีความก้าวหน้าด้วยดีในการทำพันธกิจนี้ ไม่เพียงในส่วนของธนาคารเองที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวเองก่อน แต่มองในแง่ลูกค้าเราเห็นความก้าวหน้าของพวกเขาในกระบวนการเปลี่ยนผ่านตัวเองสู่การเป็นองค์กร net zero เราไม่มีความกังวลใจใดๆ ในการก้าวสู่เส้นทางนี้ และพร้อมสนับสนุนลูกค้า เมื่อรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน เราเองในฐานะที่เป็นสถาบันการเงินก็มองเห็นโอกาสมากมายที่จะให้ความสนับสนุนและทำงานใกล้ชิดร่วมกับลูกค้าของเรา" เมลิซซากล่าว และเพิ่มเติมว่า ความสนับสนุนที่กล่าวถึงนั้นครอบคลุมตั้งแต่ในแง่การให้คำแนะนำปรึกษา การฝึกอบรมให้ความรู้ ไปจนถึงการให้ความสนับสนุนทางการเงิน