SCG งัด Inclusive Green Growth ขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว สู่เป้า Net Zero

24 ก.พ. 2567 | 07:46 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.พ. 2567 | 14:11 น.

เอสซีจี ชู “Inclusive Green Growth” ขับเคลื่อนธุรกิจ ต่อยอดนวัตกรรมสีเขียว พร้อมเดินหน้าสโคป 3 ออกแบบกรีนโปรดักส์ เพิ่มสัดส่วนจาก 54% เป็น 67% ในปี 2573 เตรียมผลิตอะเซทิลีนแบล็ก รับธุรกิจ EV Value Chain ดัน Braskem ผลิตเอทิลีนชีวภาพ

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี (SCG) เปิดเผยว่า ปี 2567 กลุ่มเอสซีจีเตรียมงบลงทุนราว 40,000 ล้านบาท ผลักดันทุกกลุ่มธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation) ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางหลักของเอสซีจี ที่จะขับเคลื่อนองค์กรภายใต้เป้าหมาย “Inclusive Green Growth” การเติบโตในธุรกิจสีเขียวที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งแนวทางนี้จะเข้มข้นมากขึ้น เพื่อผลักดันให้เอสซีจีสามารถเดินไปสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์( Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ.2593)

 “ทุกธุรกิจของเอสซีจี จะมุ่งสู่นวัตกรรมสีเขียว Low-carbon ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ สามารถสร้างกำไร และเติบโตได้ ตามแนวทาง Inclusive Green Growth ของเอสซีจี ที่สะท้อนจากยอดขาย SCG Green Choice ปี 2566 อยู่ที่ 54 % และจะเพิ่มเป็น 67% ภายในปี 2030 (พ.ศ.2573)

  • ดันธุรกิจโตแบบ Green Growth

ทั้งนี้ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ของ "บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP" ผู้นำบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ถือเป็น “Inclusive Green Growth” ที่ชัดเจน ด้วยผลการดำเนินงาน 129,398 ล้านบาท และตั้งเป้าเพิ่มรายได้เป็น 150,000 ล้านบาท ในปีพ.ศ. 2567 ที่มีการเสริมประสิทธิภาพการบริหารต้นทุน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ ที่โรงงานในประเทศไทยและในต่างประเทศ การมีเครือข่ายจัดหาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลที่ครอบคลุม ช่วยลดผลกระทบด้านราคา และเพิ่มความมั่นคงด้านการจัดหาวัตถุดิบ รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนใช้พลังงานชีวมวลให้ได้ 35 % ภายในปีนี้ ในขณะที่ต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่สามารถสร้างรายได้เติบโตสูง เพิ่มสัดส่วนใช้พลังงานทางเลือกเป็นร้อยละ 35 ของการใช้พลังงานทั้งหมด

อีกทั้ง ยังดำเนินการแบบครบวงจร ทั้งการรีไซเคิล การใช้ Green Innovation รวมทั้งยังช่วยเหลือสังคม ด้วยการปลุกป่ายูคาลิปตัส ทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริม ดังนั้น เอสซีจีจึงมีแนวคิดที่จะนำโมเดลนี้มาต่อยอดให้กับธุรกิจพลาสติกรีไซเคิลแบบครบวงจรต่อไป

SCG งัด Inclusive Green Growth ขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว สู่เป้า Net Zero

ส่วนบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC ได้ตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ Green polymer 1 ล้านตัน ในปี 2573 ซึ่งที่ผ่านมาได้ลงทุนใน บริษัท ซีพลาสต์ (Sirplaste) ผู้นำด้านการผลิตพลาสติกรีไซเคิลในโปรตุเกส และได้ขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจต้นนํ้าการจัดเก็บและคัดแยกพลาสติกเหลือใช้ รวมทั้งซื้อกิจการบริษัท Recycling Holding Volendam BV หรือ “Kras” (คราส) ผู้นำด้านการจัดการวัสดุเหลือใช้จากประเทศเนเธอร์แลนด์ และยังมีกิจการที่ครอบคลุมการรีไซเคิลพลาสติกตลอดทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ

รวมทั้ง ยังลงนามในสัญญาร่วมทุน (Joint venture) กับกลุ่มบริษัท Braskem (บราสเคม) ผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพระดับโลก จากประเทศบราซิล จัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ ตั้งเป้าผลิตเอทิลีนชีวภาพ (Green-Ethylene) จากเอทานอลที่ใช้ผลิตผลจากภาคเกษตร แทนเอทิลีนจากฟอสซิล

ล่าสุด ยังได้ร่วมลงทุนอีกกว่า 173 ล้านบาท ในหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท Avantium N.V. (“Avantium”) ซึ่ง Avantium เป็นผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านการผลิตสารตั้งต้นสำหรับขวดพลาสติกจากพืช (Polyethylene Furanoate: PEF) และเทคโนโลยีการผลิตโพลิเมอร์ ผ่านการแปลงคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้กลายเป็นเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน(CCS)

  • ชูนวัตกรรม Heat Battery 

นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะที่ธุรกิจเอสซีจี คลีน เนอร์ยี่ ตลาดยังมีความต้องการใช้พลังงานสะอาดอีกมาก เป็นโอกาสในการลงทุนติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับกลุ่มธุรกิจ โรงงาน และภาครัฐ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างเวียดนามและอิโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตที่อยู่ระหว่างการดำเนินการรวม 450 เมกะวัตต์ โดยมีเป้าหมายจะติดตั้งให้ครบ 3,000 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี

รวมถึงการลงทุนใน Rondo Energy สตาร์ทอัพด้านพลังงานสะอาดระดับโลก จากสหรัฐอเมริกา ผู้พัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่กักเก็บความร้อน (Thermal Energy Storage) โดยการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาเก็บเป็นความร้อน ใช้ในภาคอุตสาหกรรมทดแทนการใช้บอยเลอร์ (Boiler) ทำให้ลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีแผนจะเปิดโรงงานแบตเตอรี่ Heat Battery ในไทย 

  • ปั้นเจน 2 โลว์คาร์บอน ซีเมนต์

ขณะที่ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์ได้พัฒนานวัตกรรม Low-Carbon Cement หรือ ปูนคาร์บอนต่ำ ได้รับความสนใจในหลายประเทศ แสดงให้เห็นถึงความต้องการและโอกาสในการขยายตลาดที่มีอีกมาก เอสซีจีจึงมีแผนจะเปิดตัว Low-Carbon Cement เจเนอเรชั่น 2 ในปี พ.ศ.2567 ซึ่งสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้นจากรุ่นแรก 5 % และอีก 3 ปี จะออกเจเนอเรชั่น 3 ต่อไป

“การทำ “Inclusive Green Growth” ต้องใช้จุดแข็งของในแต่ละพื้นที่หรือในแต่ละธุรกิจ เช่น ธุรกิจแพคเกจจิ้ง หรือประเทศไทยที่เป็นเมืองเกษตรกรรม โดยนำจุดแข็งนั้นผนวกเข้ากับเทคโนโลยี ผลักดันให้ผลิตภัณฑ์และบริการนั้นเกิดขึ้นเป็น Green Innovation ที่ตอบโจทย์เป้าหมาย Net Zero อย่างชัดเจน”