ภารกิจที่พรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนจาก 8พรรค เทียบเชิญพรรคการเมืองต่างขั้วร่วมหารือถึงแนวทางแก้ไขวิกฤตการจัดตั้งรัฐบาล โดยใช้วันที่ 22 ก.ค. 2566 ในการหารือกับ 3พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย ,พรรคชาติพัฒนากล้า และพรรครวมไทยสร้างชาติ และหารือกับอีก 2 พรรค ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคพลังประชารัฐ ในวันที่ 23 ก.ค. 2566
ภาพที่ปรากฏการร่วมวงชนแก้วช็อกมินต์ แสดงความชื่นมื่นระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคการเมืองต่างขั้วนั้น ทำให้เป็นที่จับตาว่าการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย จะเกิดการพลิกขั้วสลับข้างหรือไม่ เพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยมีเสียงโหวตนายกรัฐมนตรีที่เพียงพอ 375 เสียง ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 คน คือ นายเศรษฐา ทวีสิน ,นางสาวแพทองธาร ชินวัตร และนายชัยเกษม นิติสิริ
โดยหากพิจารณาจำนวน สส. ของแต่ละพรรคขั้วตรงข้ามที่เข้าหารือกับพรรคเพื่อไทย รวมกับเสียงที่มีอยู่ของพรรคเพื่อไทยพบว่ามีจำนวนเสียง สส.อยู่ที่ 300 เสียง ซึ่งจะแปรเป็นเสียงโหวตนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาต่อไป
เช็คเสียง 6 พรรค รวม 300 เสียง
จะเห็นได้ว่า ถึงอย่างไรก็ยังมีความจำเป็นต้องหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมจาก วุฒิสภา (สว.) เพื่อให้มีเสียงโหวตเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 375 เสียงขึ้นไป
สำหรับจุดยืนของทั้ง 5 พรรคการเมืองขั้วตรงข้าม ที่ได้เข้าหารือกับพรรคเพื่อไทยตลอด 2 วัน แต่ละพรรคมีรายละเอียด ดังนี้
พรรคภูมิใจไทย มีจุดยืนที่ไม่สามารถทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกลได้เนื่องจากวิธีการทำงานและความคิดที่แตกต่างกัน แต่พร้อมให้ความร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
พรรคชาติพัฒนากล้า มีจุดยืนคือ สนับสนุนให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างมาก ไม่เอารัฐบาลเสียงข้างน้อย เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และต้องการให้เร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยจุดยืนชัดเจนเกี่ยวกับ ม.112 โดยขอ "คงไว้" และ "ไม่มีการแก้ไข" แต่อย่างใด
พรรครวมไทยสร้างชาติ มีจุดยืนที่จะไม่ทำงานร่วมกับพรรคที่มีนโยบายแก้ไขกฎหมาย ม.112 และมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันได้
พรรคชาติไทยพัฒนา มีจุดยืนคือการทำงานเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักของประชาชนชาวไทยที่เทิดทูน สักการะ ไม่แตะต้อง ไม่แก้ไข ไม่ยกเลิก กฎหมายอาญามาตรา 112
พรรคพลังประชารัฐ ไม่ร่วมงานกับพรรคที่ต้องการแก้กฎหมายอาญา ม.112 และพรรคที่มีอุดมการณ์การทำงานที่ต่างกัน
ทั้งนี้จะพบว่า ทั้ง 5 พรรคจะมีจุดยืนที่คล้ายคลึงกัน คือไม่เห็นด้วยกับพรรคการเมืองที่มีแนวนโยบายแก้ไขกฎหมาย ม.112 ซึ่งถือเป็นนโยบายหาเสียงของก้าวไกล