นายโช คอน เยียว มุขมนตรีรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เปิดเผยว่า ปีนังกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนจากทั่วโลกที่ต้องการแหล่งลงทุนที่มั่นคงปลอดภัยท่ามกลางบริบทความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่หลั่งไหลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของปีนังในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 1,360% เป็น 8,470 ล้านริงกิต หรือประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 62,000 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และจำนวนดังกล่าวก็นับว่าสูงกว่า FDI ของปี 2561 ทั้งปีเลยทีเดียว การเพิ่มขึ้นอย่างมากของ FDI ที่มุ่งมายังปีนังเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่การผลิตของโลก ขณะที่ปีนังเองก็มีจุดเด่นในแง่ทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ดี ทักษะฝีมือดี นโยบายส่งเสริมจากภาครัฐก็เกื้อหนุน ปัจจุบัน ปีนังเป็นฐานการผลิตของบริษัทชั้นนำระดับโลกหลายรายโดยเฉพาะในแวดวงเทคโนโลยี อย่างเช่น บริษัท อินเทล คอร์ป. และเดลล์ เทคโนโลยีส์ จากสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
สถิติชี้ว่า มูลค่าการลงทุนโดยตรงของต่างชาติในปีนังมีสัดส่วนเท่ากับ 42% ของเม็ดเงิน FDI ทั้งหมดในมาเลเซีย สำหรับการลงทุนใหม่ๆที่เพิ่งเข้ามาสู่ปีนังนั้น ยกตัวอย่างเช่นการลงทุนของบริษัท ไมครอน เทคโนโลยี อิงค์ ผู้ผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ จากสหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์บันทึกข้อมูลแบบSSD (solid-state drive) และศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีบริษัท เจบิล เซอร์กิต อิงค์ จากฟลอริดา เข้ามาซื้อที่ดินแปลงใหญ่ 20 เอเคอร์ (50.6 ไร่) เพื่อขยายต่อเติมโรงงาน
“มาเลเซียกำลังได้รับประโยชน์จากการโยกย้ายฐานการผลิตและการกระจายการลงทุนซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดฉากสงครามการค้า” นายลิ้ม กวน เอ็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของมาเลเซียกล่าว พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่าทั้งการลงทุนและการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นคือสัญญาณบ่งบอกการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในไตรมาส2 ของปีนี้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังต้องจับตากันต่อไปคือการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงที่ผ่านมานั้น จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปในไตรมาส 2 และ 3 หรือไม่ นอกจากนี้ ขณะที่บางบริษัทได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้า แต่บางบริษัทก็อาจได้รับผลกระทบทางลบ ทำให้ลูกค้าชะลอการตัดสินใจเพื่อรอดูสถานการณ์ มุขมนตรีของรัฐปีนังเชื่อว่า สำหรับปีนังแล้ว แนวโน้มการลงทุนยังคงสดใส และเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้วทั้งในระยะกลางและระยะยาว ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐปีนัง ปรับตัวเร็วเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยมีการชักชวนส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ เช่น มีการลงนามทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐปีนังกับหอการค้าระหว่างประเทศของจีน มีการให้ข้อเสนอค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ในอัตราราคาพิเศษ (ที่รัฐให้การอุดหนุน) แก่ผู้ลงทุนที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งยังมีกองทุนให้ความสนับสนุนทางการเงินเพื่อบ่มเพาะการเติบโตของบริษัทสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เป็นต้น