14 พ.ย. 2563 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุปผล การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 8 ที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำจาก เวียดนาม ลาว ไทย สิงคโปร์ บรูไน และผู้แทนจาก อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และ นายโรเบิร์ต ซี. โอไบรอัน (Robert C. O’Brien) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Security Advisor) เป็นผู้แทนฝ่ายสหรัฐ
การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในการหารือกลุ่มย่อยของการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐในอนาคต ขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-สหรัฐให้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของความร่วมมือเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมให้เข้มแข็งและยั่งยืน ตลอดจนทบทวนเพื่อต่อยอดความร่วมมือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ครั้งที่ 7
นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ซึ่งเป็นประธานอาเซียนปีนี้ ชื่นชมบทบาทของสหรัฐในภูมิภาค และด้วยความท้าทายที่มากขึ้น ประเทศในภูมิภาคต้องร่วมมือกันมากขึ้นตามหัวข้อหลักของการประชุม คือ “ แน่นแฟ้นและตอบสนอง” เพื่อการฟื้นฟูหลังโควิด19 ที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ด้านนายโรเบิร์ต ซี. โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ แสดงความเชื่อมั่นว่าการประชุมจะดำเนินการหารือไปด้วยดี และเป็นปีสำคัญของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กระทบการพบเจอเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น การเชื่อมห่วงโซ่อุปทานสำหรับโควิด-19 ยังคงจำเป็น ต้องมีความร่วมมือต่อต้านโรคระบาด การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ทั้งความมั่นคงและอาหาร นอกจากนี้ สหรัฐยังให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การฝึกอบรมสนับสนุนอาชีพ เป็นต้น
ในโอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า สหรัฐเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่รอบด้านของอาเซียน บทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐจะช่วยเสริมสร้างความเป็นแกนกลางและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของอาเซียน การสร้างดุลยภาพใหม่ทางยุทธศาสตร์ (new strategic equilibrium) ในอินโด-แปซิฟิก จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภูมิภาค นายกรัฐมนตรีเสนอให้ อาเซียนและสหรัฐกระชับความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างอนาคตที่มีเสถียรภาพและความยั่งยืนสำหรับประชาชนใน 3 ประเด็น คือ
1. การส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุข สนับสนุนการวิจัยและการผลิต ตลอดจนการเข้าถึงยาและวัคซีนต้านโควิด-19 อย่างเร่งด่วน โดยไทยพร้อมจะเป็นฐานในการผลิตยาและวัคซีน เพื่อให้เป็นสินค้าสาธารณะ และไทยพร้อมสนับสนุนโครงการ "อาเซียน-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุขเพื่ออนาคต"
2. การส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และภูมิภาค โดยสหรัฐและอาเซียน เขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 1 และ 5 ของโลก ควรร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานสินค้า เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีในอาเซียน และพัฒนาเมืองอัจฉริยะร่วมกัน รวมทั้งเสริมสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะจากการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนภาคเอกชนของสหรัฐ มาร่วมพัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัลในอาเซียน ซึ่งไทยมีโครงการเพื่อรองรับการเติบโตด้านดิจิทัลที่พร้อมร่วมมือกับสหรัฐอาทิ โครงการ "ASEAN Digital Hub" รวมถึงโครงการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ "Digital Park Thailand"
3. การพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งอาเซียนและสหรัฐ ควรร่วมกันพัฒนาทักษะแรงงาน ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ควรมุ่งเน้นความร่วมมือด้านการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา ในสาขาอาชีพใหม่ ๆ การพัฒนาทักษะภาษา และการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาผลิตแรงงานที่ทันสมัย และมีทักษะตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานโลก
ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐกล่าวย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะสานต่อมิตรภาพและความเป็นหุ้นส่วนสหรัฐ-อาเซียน ให้ดำเนินต่อไปในปีหน้าและต่อ ๆ ไป โดยจะแน่นแฟ้นในทุกด้าน ความร่วมมือสำคัญต่อสันติภาพ ความมั่นคง และประโยชน์ต่อประชาชน รวมทั้งจะมีความร่วมมือใหม่ ๆ เช่น คณะทำงานด้านสาธารณสุข และโควิด-19 ลงทุนด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลมากขึ้น เพื่อส่งเสริมแรงงานและบุคลากร ลงทุนเพิ่มขึ้นในด้านโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียน ส่งเสริมอินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี รวมทั้งปกป้องความเป็นแกนกลางของอาเซียน
อนึ่ง การประชุมอาเซียน-สหรัฐ ครั้งนี้ ยังเกิดขึ้นเพียงวันเดียว หลังรัฐบาลปักกิ่งแสดงความยินดีกับนายโจ ไบเดน และนางกมลา แฮร์ริส ว่าที่ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ท่ามกลางการคาดหมายว่า นโยบายต่างประเทศของไบเดนน่าจะมี "ความเข้มข้นมากขึ้น" ต่อทวีปเอเชีย