เผยชนวนเหตุ จีนเดือดแบนสื่อใหญ่ “บีบีซี” จอดำในจีน

12 ก.พ. 2564 | 01:32 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2564 | 01:52 น.

ประเด็นการนำเสนอรายงานข่าวและบทสัมภาษณ์พิเศษชนกลุ่มน้อยในอุยกูร์ และชาวมุสลิมอื่นๆ ในมณฑลซินเจียง ที่จีนระบุว่าเป็น “ข่าวเท็จ”  กลายเป็นข้ออ้างนำไปสู่คำสั่งระงับการออกอากาศรายการของ “บีบีซี” ในจีน มีผลวันนี้ (12 ก.พ.)  

สำนักงานกำกับวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติจีน (NRTA) ประกาศ ห้ามการเผยแพร่ข่าวของ BBC World News ในจีนมีผลวันนี้ (12 ก.พ.) เนื่องจากมีเนื้อหาที่ละเมิดกฎระเบียบของจีน “อย่างรุนแรง”  รวมถึงกฎระเบียบที่ระบุให้มีการรายงานข่าวที่ซื่อสัตย์ ถูกต้อง และเที่ยงธรรม

 

NRTA ยังกล่าวโทษว่า เนื้อหาของ BBC World News มีผลบ่อนทำลายผลประโยชน์ของจีน และความเป็นเอกภาพของชาติพันธุ์ต่าง ๆ แถลงการณ์ของ NRTA ระบุว่า ด้วยเหตุที่ BBC World News ซึ่งเป็นสื่อใหญ่ของอังกฤษ ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดสำหรับสถานีโทรทัศน์ต่างชาติที่ออกอากาศในจีน ดังนั้น การยื่นขอออกอากาศต่อไปอีกปีจึงถูกปฏิเสธ รายการของ BBC World News จะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศภายในประเทศจีน และ NRTA ก็จะไม่รับคำขอให้บริการสำหรับปี 2565 ด้วย

 

การตัดสินใจของจีนในครั้งนี้ ถูกประณามโดยนาย โดมินิก ราบ รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ ที่ออกมาแถลงทันทีหลังจากที่ช่องสถานีของบีบีซีกลายเป็น “จอดำ” ในจีน ว่า มาตรการล่าสุดนี้รังแต่จะก่อความเสียหายแก่ชื่อเสียงของจีนในสายตาชาวโลกและเป็นการจำกัดเสรีภาพสื่อสารมวลชนที่ไม่อาจยอมรับได้   ขณะที่บีบีซีเอง ให้ความเห็นว่า รู้สึก “ผิดหวัง” ต่อการตัดสินใจครั้งนี้ของจีน

 

แม้แต่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ได้เป็นผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้โดยตรง ยังออกมาให้ความเห็นเชิงประณามการตัดสินใจของจีนว่า เป็นเรื่องน่าหนักใจที่จีนกำหนดข้อจำกัดต่อสื่อมวลชนและแฟลตฟอร์มต่างๆ ไม่ให้ทำงานอย่างอิสระเสรี

นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจใช้ มาตรการ “ลงโทษ” สถานีข่าวของอังกฤษขั้นเด็ดขาดครั้งนี้มีที่มาที่ไป ซึ่ง ชนวนเหตุ เกิดจากรายงานข่าวของบีบีซีเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ในจีนที่ถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศอย่างเป็นระบบ รายงานข่าวดังกล่าวสะท้อนภาพเหล่าผู้หญิงที่อยู่ในค่ายกักกันของชนกลุ่มน้อยอุยกูร์และชาวมุสลิมอื่นๆ ในมณฑลซินเจียง พวกเธอให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความโหดร้ายในค่ายกักกัน ซึ่งหลังจากที่เนื้อหาของข่าวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป จีนก็ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดในซินเจียง โดยจีนระบุว่า รายงานข่าวของบีบีซีคือ “ข่าวเท็จ” (fake news) ที่"ปราศจากพื้นฐานข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง"

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกมาแถลงชัดเจนว่า รัฐบาลปักกิ่งพบความเคลื่อนไหวของ “แคมเปญปลุกกระแสต่อต้านจีน” ที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผ่านการนำเสนอข่าวสารของสื่อหลายแห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ บีบีซี หรือในชื่อเต็มว่า บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงแห่งอังกฤษ

 

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนปฏิเสธเนื้อหาที่หญิงชาวอุยกูร์ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี โดยระบุว่า สิ่งที่เธอพูดนั้นเป็น “ข้อมูลเท็จ” พร้อมกันนี้ การแถลงของนายหวัง เหวินปิน ยังมีการให้ข้อมูลหักล้างเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ของสตรีที่รายงานข่าวระบุว่า ชื่อนางซุมรัต ดาวุต โดยเธอให้สัมภาษณ์บีบีซีว่า ถูกกักขังในสถานที่ที่เรียกว่า "ค่ายปรับทัศนคติ" แต่ทางการจีนระบุว่า ในความเป็นจริง เธอไม่เคยเข้ารับการฝึกอบรมอาชีพ หรือการศึกษา ในสถานที่แห่งนี้

 

คลิปโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงปฏิเสธข่าวบีบีซี 

สตรีดังกล่าวยังอ้างการ "ถูกบังคับให้ทำหมัน" แต่ทางการจีนระบุว่า เมื่อตรวจสอบประวัติย้อนหลัง พบว่าเธอคลอดบุตรคนที่ 3 ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในเมืองอุรุมชี ซึ่งเป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เมื่อปี 2556 โดยเธอลงนามในเอกสาร ขอให้แพทย์ผ่าคลอดและทำหมันให้ด้วย ทางโรงพยาบาลจึงจัดการให้ตามคำร้องของคนไข้

 

ส่วนข้อกล่าวอ้างที่ว่า บิดาของเธอถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปสอบสวนหลายครั้ง และเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา ทางการระบุว่า ในความเป็นจริง บิดาอาศัยอยู่กับเธอมาตลอด ไม่เคยมีประวัติถูกจับกุมและสอบปากคำ และต่อมาก็เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเมื่อปีที่แล้ว โดยจีนอ้างว่า พี่ชายทั้งสองคนของเธอ เป็นพยานยืนยันว่า ข้อมูลทั้งหมดที่ทางการนำมาหักล้างนั้น "เป็นความจริง" จึงสรุปได้ว่า นางซุมรัต ดาวุต คือ เครื่องมือของ "กองกำลังต่อต้านจีน" ผ่านการสร้างสถานการณ์ในซินเจียง

 

ถ้อยแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า ด้วยเหตุนี้ จีนจึงมีความชอบธรรมที่จะสั่งยุติการแพร่ภาพรายการของ BBC World News ในประเทศจีน

 

สื่อต่างประเทศยังรายงานว่า การตัดสินใจแบนรายการของสถานีโทรทัศน์บีบีซีในจีนครั้งนี้ ยังเป็นการตอบโต้ของจีนต่อการที่รัฐบาลอังกฤษได้เพิกถอนใบอนุญาตของบริษัทไชน่า โกลบอล เทเลวิชัน เน็ตเวิร์ก ( ซีจีทีเอ็น ) ซึ่งเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษของจีน ไม่ให้ออกอากาศแพร่ภาพรายการในประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา  โดยเป็นการเพิกถอนใบอนุญาต หลังจากที่มีการตรวจสอบพบว่า บริษัท สตาร์ ไชน่า มีเดีย ลิมิตเต็ด หรือ SCML ซึ่งเป็นเจ้าของใบอนุญาตการออกอากาศรายการของซีจีทีเอ็นนั้น ถือครองใบอนุญาตโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งกรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของรายการแต่อย่างใด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีนประกาศแบนข่าว BBC อ้างเนื้อหาละเมิดกฎระเบียบ

เปิดข้อคิด“สี จิ้นผิง”แก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยซินเจียงอุยกูร์  

จีนคว่ำบาตรจนท.สหรัฐ ตอบโต้ถูกกล่าวหาละเมิดสิทธิชาวอุยกูร์