ยูเอสทีอาร์ประกาศจุดยืน พร้อมหนุนข้อเสนอระงับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาวัคซีนโควิดเป็นการชั่วคราว เพื่อเร่งเพิ่มกำลังการผลิต

06 พ.ค. 2564 | 07:58 น.

ผู้แทนการค้าสหรัฐหนุนงดเว้นความคุ้มครองสิทธิบัตรวัคซีนโควิดเป็นการชั่วคราวเพื่อช่วยโลกฝ่าวิกฤตโรคระบาด ยันพร้อมผลักดันเรื่องนี้ในเวที WTO

นางแคทเธอรีน ไท่ ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ออกแถลงการณ์วานนี้ (5 พ.ค.) ระบุว่า คณะรัฐบาลสหรัฐโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน และรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส สนับสนุนการงดเว้นการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นการชั่วคราว เนื่องจากโลกกำลังเผชิญ ภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุข และสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ก็เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ทำให้โลกจำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษที่แตกต่างไปจากที่เคยเป็นมา

แคทเธอรีน ไท่

“เรามีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แต่เพื่อร่วมยุติโรคระบาดใหญ่ในครั้งนี้ สหรัฐขอสนับสนุนการระงับความคุ้มครองสิทธิบัตรวัคซีนต้านโควิดเป็นการชั่วคราว  เราจะร่วมเจรจากับองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อให้เรื่องนี้เกิดผลเป็นรูปธรรม”

อย่างไรก็ตาม ผู้แทนการค้าสหรัฐยอมรับว่า การเจรจาใน WTO เป็นกระบวนการที่อาจต้องใช้เวลาเนื่องจากเป็นการเจรจาที่ต้องอาศัยฉันทามติของชาติสมาชิกในการตกลงกัน นอกจากนี้ประเด็นดังกล่าวยังมีความซับซ้อนละเอียดอ่อน    

“เป้าหมายของสหรัฐในการดำเนินการครั้งนี้ก็เพื่อให้มีวัคซีนต้านโควิดที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ถึงมือคนจำนวนมากให้เร็วที่สุด ขณะนี้สหรัฐมีปริมาณสำรองวัคซีนเพียงพอสำหรับชาวอเมริกัน แต่รัฐบาลสหรัฐจะยังคงทำงานร่วมกับภาคเอกชนและพันธมิตรทั้งหมดที่มีเพื่อร่วมกันขยายศักยภาพการผลิตและกระจายวัคซีนโควิดต่อไป นอกจากนี้ยังจะพยายามทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มปริมาณวัตถุดิบที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตวัคซีน” แถลงการณ์ของ USTR ระบุ

ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐอยู่ภายใต้แรงกดดันของผู้นำหลายประเทศที่ต้องการให้สหรัฐสนับสนุนการงดเว้นการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (IP) แก่บรรดาบริษัทผู้พัฒนาและผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อส่งเสริมให้บริษัทยาในประเทศกำลังพัฒนาสามารถผลิตวัคซีนได้มากขึ้นและทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้น โดยหลายฝ่ายได้กล่าวหาประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐ แคนาดา และญี่ปุ่น กว้านซื้อวัคซีนต้านโควิดไปกักตุนไว้มากเกินความจำเป็น กระทั่งเมื่อเร็ว ๆนี้ ผู้นำสหรัฐได้ออกมาประกาศว่ายินดีจัดสรรวัคซีนโควิดของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าที่สหรัฐมีอยู่ให้แก่ประเทศอื่น ๆ  

สื่อต่างประเทศรายงานว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของสหรัฐ เช่น ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ระงับความคุ้มครองสิทธิบัตรวัคซีนโควิดเป็นการชั่วคราว โดยเห็นว่าไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหาการขาดแคลนวัคซีน อย่างไรก็ตามยังไม่มีตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใด ออกมาให้ความเห็นหลังจากที่ USTR มีประกาศออกมา  

แถลงการณ์ยูเอสทีอาร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง