ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของจีน กำลังเผชิญปัญหาวิกฤตสภาพคล่อง มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ของบริษัท 2 งวดในเดือนนี้ หลายฝ่ายจับตาว่า บริษัทกำลังเจอทางตันและน่าจะต้องผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ลอเรนซ์ บูน หัวหน้านักวิเคราะห์ของ OECD ให้ความเห็นว่า จีนมีความสามารถด้านการเงินและการคลังในการบรรเทาภาวะตื่นตระหนกดังกล่าว ซึ่งจะช่วยจำกัดผลกระทบที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ทางฝั่งตะวันตกกำลังรอดูปฏิกิริยาของนักลงทุนจีนที่จะกลับเข้าสู่ตลาดในวันพุธนี้ (22 ก.ย.) หลังจากตลาดหุ้นจีนปิดทำการวันที่ 20-21 ก.ย. เนื่องในเทศกาลไหว้พระจันทร์ นายปีเตอร์ การ์นรี หัวหน้านักวิเคราะห์ของ Saxo Bank กล่าวว่า แรงเทขายของนักลงทุนยังคงไม่หมดไปจากตลาด เนื่องจากดัชนีความผันผวน CBOE หรือ CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะปรับตัวลงจากเมื่อวันจันทร์
ทั้งนี้ ดัชนี VIX ปรับตัวลงสู่ระดับ 22.81 ในวันอังคาร (21 ก.ย.) หลังจากพุ่งแตะ 25.71 เมื่อวันจันทร์ (20 ก.ย.) ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ บริษัทยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์เบอร์ 2 ของจีน
"ตลาดกำลังรอดูปฏิกริยาของนักลงทุนจีนที่จะกลับเข้าตลาดในวันพุธ หลังจากตลาดหุ้นจีนปิดทำการวันที่ 20-21 ก.ย. เนื่องในเทศกาลไหว้พระจันทร์ นอกจากนี้ยังต้องจับตาวันที่ 23 ก.ย. ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์" หัวหน้านักวิเคราะห์ของ Saxo Bank กล่าว
ทั้งนี้ เอเวอร์แกรนด์มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยวงเงิน 83.5 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2,780 ล้านบาท ในวันที่ 23 ก.ย.ของหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.2565 และมีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยวงเงิน 47.5 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1,580 ล้านบาท ในวันที่ 29 ก.ย.ของหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.2567
หากเอเวอร์แกรนด์ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยเมื่อถึงวันกำหนดชำระดังกล่าว ทางบริษัทจะมีเวลาอีก 30 วันเพื่อทำการชำระ และหากบริษัทยังคงไม่สามารถชำระดอกเบี้ยก็จะถือว่าบริษัทผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ และคาดว่านักลงทุนที่เข้าซื้อหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์จะได้รับส่วนแบ่งการชำระคืนในสัดส่วนต่ำ
ก่อนหน้านี้ เอเวอร์แกรนด์ เคยออกแถลงการณ์ยอมรับว่าบริษัทกำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่อง และอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จากข้อมูลที่มีการยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ระบุว่า เอเวอร์แกรนด์มีตราสารหนี้เชิงพาณิชย์มูลค่ารวม 2.057 แสนล้านหยวน (3.2 หมื่นล้านดอลลาร์) หรือราว 1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2563
มีตัวเลขประมาณการว่า ปัจจุบันเอเวอร์แกรนด์มีหนี้สินมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 10 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับ 2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีน หลังจากที่บริษัทได้ทำการกู้เงินมาเป็นเวลาหลายปีเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน