มีผลแล้ว อินโดฯห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มแบบเหวี่ยงแห "ทุกประเภท"

27 เม.ย. 2565 | 23:55 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2565 | 07:07 น.

มาตรการระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียมีผลแล้วในวันนี้ (28 เม.ย.) ซึ่งเป็นไปตามที่เคยประกาศไว้ แต่ที่พลิกความคาดหมายอีกครั้ง คือการห้ามส่งออกครั้งนี้ ครอบคลุม "น้ำมันปาล์มดิบ" ที่เมื่อต้นสัปดาห์เพิ่งออกข่าวว่าได้รับการยกเว้น

นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต หัวหน้ารัฐมนตรีเศรษฐกิจอินโดนีเซีย แถลงข่าววานนี้ (27 เม.ย.) ยืนยันว่า อินโดนีเซีย จะขยาย มาตรการระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 28 เม.ย.นี้ โดยจะ ห้ามการส่งออกผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์ม “ทุกประเภท” ซึ่งครอบคลุมถึง

  • น้ำมันปาล์มดิบ (CPO)
  • น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (RPO)
  • น้ำมันปาล์มโอเลอิน (RBD)
  • น้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม (POME)
  • และน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว

 

จากเดิมที่ระงับการส่งออกเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มโอเลอิน หรือน้ำมันปาล์มแปรรูป ซึ่งได้จากการนำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มาผ่านกระบวนการฟอกสี ขจัดกลิ่น และลดกรดไขมันอิสระ

 

"การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสอดคล้องกับการตัดสินใจของท่านประธานาธิบดี หลังจากที่มีการพิจารณาความเห็นและเสียงสะท้อนจากประชาชนแล้ว" ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ

รายงานข่าวระบุว่า การประกาศของนายฮาร์ตาร์โตมีขึ้นในคืนวันพุธ (27 เม.ย.) เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่มาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 เม.ย. หรือเริ่มตั้งแต่เที่ยงคืนของวันนี้ (28 เม.ย.)

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย

ทางด้านประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ออกแถลงการณ์ในวันเดียวกันระบุว่า รัฐบาลมีความเป็นห่วงเป็นใยต่อประชาชนโดยจะเข้าแก้ไขปัญหาอาหารราคาแพง มากกว่าที่จะห่วงว่ารัฐบาลจะขาดรายได้จากการส่งออก

 

"ทันทีที่ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไข ผมก็จะยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออก เพราะผมรู้ว่าประเทศต้องการรายได้จากภาษี ต้องการเงินตราต่างประเทศ และต้องการให้มีการเกินดุลการค้า แต่ความจำเป็นของประชาชนต้องมาก่อนสิ่งเหล่านี้" แถลงการณ์ของผู้นำอินโดนีเซียระบุ

 

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีวิโดโดประกาศห้ามการส่งออกน้ำมันปาล์มทุกประเภทเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำมันปรุงอาหารในประเทศ และแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมือง หลังจากที่กลุ่มนักศึกษาได้ออกมาชุมนุมในหลายเมืองเพื่อขับไล่รัฐบาล เนื่องจากมองว่าประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพง ซึ่งรวมถึงน้ำมันปาล์ม

ผลการสำรวจของ Indikator Politik Indonesia พบว่า คะแนนนิยมของปธน.วิโดโดได้ตกต่ำลงเหลือเพียง 59.9% ในเดือนเม.ย. จากเดิมที่ความนิยมในตัวเขาเคยพุ่งแตะระดับสูงถึง 75.3% ในช่วงต้นปี(2565)

 

การสำรวจดังกล่าวยังพบว่า ผู้ถูกสำรวจมากกว่า 60% ต้องการให้รัฐบาลยุติการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อแก้ไขปัญหาราคาแพง และการขาดแคลนภายในประเทศ

         

ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ทำให้ปธน.วิโดโดประกาศระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา(22 เม.ย.)โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 เม.ย. และไม่มีการระบุระยะเวลาของการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว เพียงแต่ย้ำว่าจะยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มก็ต่อเมื่อสถานการณ์การขาดแคลนภายในประเทศได้บรรเทาลงแล้ว

 

สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก

อินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีปริมาณคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือราว 60% ของผลผลิตโลก

 

การประกาศระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียครั้งนี้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก และทำให้ราคาน้ำมันพืชประเภทอื่นต่างพุ่งขึ้นด้วยเช่นกัน ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการขาดแคลนสินค้าในตลาด

 

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า มาตรการระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียจะไม่สามารถดำเนินไปนานกว่า 1 เดือน เนื่องจากอินโดนีเซียขาดโครงสร้างพื้นฐานในการกักเก็บน้ำมันปาล์มส่วนเกิน และอินโดนีเซียจะเผชิญกับแรงกดดันจากเสียงเรียกร้องของประเทศต่างๆ  เพื่อให้อินโดนีเซียกลับมาส่งออกน้ำมันปาล์มในตลาด

 

ก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียเคยประกาศระงับส่งออกน้ำมันปาล์มในเดือนม.ค. 2565 ก่อนที่จะยกเลิกประกาศดังกล่าวในเดือนมี.ค.

 

"ขณะนี้อินโดนีเซียได้กักเก็บสต็อกน้ำมันปาล์มอยู่แล้วราว 5 ล้านตัน ขณะที่มีความสามารถในการกักเก็บเต็มที่เพียง 6-7 ล้านตัน ซึ่งจะเต็มความจุภายในสิ้นเดือนหน้า" ดีลเลอร์รายหนึ่งกล่าว

 

ด้านนายเอดดี มาร์โตโน เลขาธิการ GAPKI ซึ่งเป็นสมาคมน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย กล่าวว่า "จากการคำนวณง่ายๆ คลังกักเก็บน้ำมันปาล์มทุกแห่งจะเต็มหมดในเวลาไม่ถึง 1 เดือน หากมีการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มทั้งหมด"

เมื่อไม่มีคลังกักเก็บน้ำมันปาล์ม ก็จะไม่มีการรับซื้อผลปาล์มเพื่อสกัดน้ำมันปาล์ม

เมื่อไม่มีคลังกักเก็บน้ำมันปาล์ม ก็จะไม่มีการรับซื้อผลปาล์มเพื่อสกัดน้ำมันปาล์ม ซึ่งจะทำให้ผลปาล์มเกิดการเน่าเสียหาย และจะทำให้เกษตรกรลดการผลิตลง

 

นอกจากนี้ อินโดนีเซียผลิตน้ำมันปาล์มราว 4 ล้านตันทุกเดือน แต่บริโภคภายในประเทศเพียง 1.5 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้มีน้ำมันปาล์มส่วนเกินราว 2.5 ล้านตัน

 

ขณะเดียวกัน กระทรวงเศรษฐกิจอินโดนีเซียระบุว่า รัฐบาลจะบังคับใช้คำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มไปจนกว่าราคาน้ำมันปรุงอาหารภายในประเทศจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 14,000 รูเปียห์/ลิตร จากระดับ 19,000-20,000 รูเปียห์ในขณะนี้     

 

ผลกระทบราคาน้ำมันปาล์มและน้ำมันอื่นๆ

ราคาสัญญาน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลืองที่มีการซื้อขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์กัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียพุ่งขึ้นเมื่อวันพุธ (27 เม.ย.) ก่อนที่มาตรการระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียจะมีผลบังคับใช้ในวันนี้ (28 เม.ย.) โดยราคาสัญญาน้ำมันปาล์มงวดส่งมอบเดือนก.ค.2565 พุ่งขึ้น 5.4% แตะระดับ 6,743 ริงกิต/ตัน ขณะที่สัญญาน้ำมันถั่วเหลืองดีดตัวขึ้น 1.3% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

นายจูเลียส วิดโจโจโน โฆษกกองทัพเรืออินโดนีเซีย แถลงว่า กองทัพเรือจะทำการลาดตระเวนในน่านน้ำอินโดนีเซียเพื่อป้องกันการลักลอบขนถ่ายน้ำมันปาล์มกลางทะเล อันเป็นสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการห้ามส่งออก