แถลงการณ์ของ ทำเนียบขาว เผยแพร่วานนี้ (6 มิ.ย.) ระบุว่า มาตรการคุ้มครองชั่วคราวต่อการนำเข้า อุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ แผงโซลาร์เซลล์ จาก 4 ประเทศอาเซียน รวมทั้ง ไทย ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ มีขึ้นเพื่อเป็น "สะพานเชื่อมต่อ" ในช่วงที่ภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐเพิ่มกำลังการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ และผลักดันนโยบายพลังงานสะอาดของปธน.ไบเดน
ทั้งนี้ ปธน.ไบเดน ได้ ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อการนำเข้าอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ หรือแผงโซลาร์เซลล์จาก 4 ประเทศอาเซียน ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา โดยจัดให้เป็นสินค้าปลอดภาษีนำเข้าเป็นเวลา 24 เดือน
นอกจากนี้ ยังประกาศใช้ กฎหมายการผลิตเพื่อปกป้องประเทศ (PDA) ในการสนับสนุนให้ภาคเอกชนของสหรัฐทำการผลิตแผงโซลาร์เซลล์และพัฒนาพลังงานสะอาด โดยได้รับเงินกู้และเงินให้เปล่าจากรัฐบาล
"การมีภาคพลังงานสะอาดที่แข็งแกร่งจะทำให้สหรัฐเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อพันธมิตรของเรา โดยเฉพาะในขณะที่ประธานาธิบดีปูตินกำลังทำสงครามกับยูเครน" แถลงการณ์ระบุ
หลังการประกาศมาตรการดังกล่าวของปธน.ไบเดน ภาคอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของสหรัฐต่างแสดงความยินดี โดยนางแอบิเกล รอสส์ ฮอปเปอร์ ประธานสมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ (SEIA) กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้ของประธานาธิบดีไบเดน เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก เธอมองว่า ภายในช่วงเวลา 2 ปีนี้ ภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐจะสามารถกลับมาติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้มากขึ้น และการประกาศใช้กฎหมาย PDA จะช่วยให้อุตสาหกรรมของสหรัฐมีการขยายตัวมากขึ้น
ความเป็นมาก่อนหน้านี้
ก่อนการตัดสินใจออกคำสั่งดังกล่าวข้างต้น ปธน.ไบเดนได้รับการร้องเรียนจากภาคอุตสาหกรรม สมาชิกสภาคองเกรส และผู้ว่าการรัฐของสหรัฐเกี่ยวกับผลกระทบจากการที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ทำการสอบสวนการนำเข้าอุปกรณ์แผงโซลาร์เซลล์จาก 4 ประเทศอาเซียน ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา ว่าเป็นการช่วยให้จีนหลีกเลี่ยงมาตรการทางด้านภาษีจากทางสหรัฐหรือไม่ ซึ่งหากผิดจริงจะทำให้มีการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังสูงถึง 250%
(อ่านเพิ่มเติม: ด่วน! สหรัฐจ่อสอบไทย+3 ชาติอาเซียน ส่งออกอุปกรณ์โซลาร์เอื้อจีนเลี่ยงภาษี)
"การสอบสวนดังกล่าวได้ทำให้อุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์หยุดชะงักลง และจะกระทบต่อธุรกิจโซลาร์เซลล์ของสหรัฐและคนงานในอุตสาหกรรม รวมทั้งจะเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อภาคครัวเรือนของชาวอเมริกัน" เนื้อหาส่วนหนึ่งของจดหมายร้องเรียนระบุ
ทั้งนี้ สหรัฐนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จาก 4 ประเทศดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 80% ของการนำเข้าทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ บริษัท Auxin Solar ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ยื่นฟ้องต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเพื่อให้มีการสอบสวนว่า ผู้ผลิตของจีนได้โยกย้ายฐานการผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีจากทางสหรัฐหรือไม่
แต่ขณะเดียวกัน ในฐานะผู้ที่จะได้รับผลกระทบ ทางด้านสมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐ (SEIA) เตือนว่าการสอบสวนของกระทรวงพาณิชย์จะส่งผลให้การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐต้องหยุดชะงักลง หลังจากที่ได้ชะลอตัวลงอยู่แล้ว อันเนื่องจากต้นทุนในระดับสูง ความล่าช้าในการขนส่งสินค้า รวมทั้งปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยขัดขวางนโยบายของปธน.ไบเดนเอง ที่ต้องการสนับสนุนโครงการใช้พลังงานหมุนเวียนในสหรัฐ
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวระบุว่า แม้ปธน.ไบเดนจะออกคำสั่งคุ้มครองการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากทั้ง 4 ประเทศแล้ววานนี้ (6 มิ.ย.) แต่การสอบสวนจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะยังคงดำเนินต่อไป และหากปรากฎว่าผิดจริง ทางกระทรวงก็จะสามารถเรียกเก็บภาษีได้ แต่จะต้องพ้นกำหนดเวลา 24 เดือนนับจากที่ปธน.ไบเดนกำหนดให้แผงโซลาร์เซลล์ดังกล่าวเป็นสินค้าปลอดภาษี และกระทรวงจะไม่สามารถเรียกเก็บภาษีย้อนหลังต่อการนำเข้าสินค้าดังกล่าว