ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2554 ในการประชุมเมื่อวันพฤหัสฯ (21 ก.ค.) เพื่อรับมือ วิกฤติอัตราเงินเฟ้อ ที่พุ่งอย่างร้อนแรง โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ (0.50%) ซึ่งมากเกินความคาดหมาย (เมื่อเดือนมิ.ย. ECB ส่งสัญญาณว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพียง 0.25%) และยังเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 ทำให้อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของสหภาพยุโรปกลับมาอยู่ที่ 0.00% อีกครั้งหลังจากติดลบมาตลอดตั้งแต่ปี 2557 โดยอัตราล่าสุดก่อนปรับขึ้น อยู่ที่ระดับ -0.50%
การขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ท่ามกลางบริบทที่ยุโรปกำลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ สืบเนื่องจากวิกฤติราคาพลังงาน โดย อัตราเงินเฟ้อในสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อคำนวณแบบรายปีกระโดดไปอยู่ที่ 9.6% ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ในกลุ่มประเทศยูโรโซนทั้ง 19 ประเทศ มีเงินเฟ้อที่ 8.6%
สื่อต่างประเทศระบุ ก่อนหน้านี้ ECB มีแผนขึ้นอัตราดอกเบี้ยในกรอบแคบกว่านี้ แต่ที่สุดแล้วก็ตัดสินใจเคลื่อนไหวเชิงรุกมากขึ้นตามผลประเมินความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ
นางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวว่า เงินเฟ้อยังคงสูงอยู่ และจะคงอยู่เหนือเป้าหมายของ ECB ไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งการตัดสินใจเรื่องนโยบายการเงินของ ECB จะขึ้นอยู่กับข้อมูลในแต่ละเดือน
นอกจากนี้ ECB ยังเปิดเผยมาตรการใหม่สำหรับช่วยเหลือประเทศหนี้สินสูงในยูโรโซน เรียกว่า กลไกปกป้องการทำธุรกรรม (Transmission Protection Instrument หรือ TPI) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อคงสภาพต้นทุนกู้ยืมในประเทศหนี้สูงในกลุ่มยูโรโซน เช่น อิตาลี และกรีซ เพื่อรักษาความเป็นหนึ่งเดียวภายในกลุ่มประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโรเอาไว้
ทั้งนี้ ภายใต้กลไก TPI จะทำให้ ECB สามารถเข้าซื้อพันธบัตรจากประเทศที่มีหนี้สินจำนวนมาก เช่น อิตาลี เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร และลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก
ประเทศที่เข้าเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือจาก TPI จะต้องเป็นประเทศที่มีคุณสมบัติดังนี้ คือ
พร้อมกันนี้ ในการประชุมครั้งล่าสุด ECB ยังได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ 0.50% สู่ระดับ 0.50% จากเดิมที่ระดับ 0% และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.50% สู่ระดับ 0.75% จากเดิมที่ระดับ 0.25%