สำนักงานสถิติของ อาร์เจนตินา เปิดเผยเมื่อสุดสัปดาห์ (14 เม.ย.) ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อ เมื่อเทียบเป็นรายปีของอาร์เจนตินาพุ่งขึ้นสู่ระดับ 104.3% ในเดือนมี.ค. 2566 ซึ่งนับเป็นหนึ่งใน อัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในโลก
สภาวะดังกล่างส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชน และวิกฤตค่าครองชีพทำให้ความยากจนเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อเทียบเป็นรายเดือน เงินเฟ้อของอาร์เจนตินาอยู่ที่ 7.7% ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 7.1% และเป็นการปรับตัวขึ้นรายเดือนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2565 เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับรัฐบาลที่กำลังเผชิญกับความไม่พอใจของประชาชนขณะที่การเลือกตั้งทั่วประเทศกำลังใกล้เข้ามาในเดือนต.ค.ที่จะถึงนี้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อเงินเดือนและอำนาจในการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งทำให้ความจนพุ่งขึ้นเกือบ 40% และส่งผลกระทบต่อความนิยมของพรรคเพโรนิสต์ (Peronist) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลทั้งๆที่การเลือกตั้งทั่วไปใกล้เข้ามาทุกที
ปัจจัยซ้ำเติมสถานการณ์ให้ย่ำแย่คือการที่ อาร์เจนตินาซึ่งเป็นประเทศส่งออกธัญพืชรายใหญ่ของโลก กำลังเผชิญกับภัยแล้ง “ครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์” ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตถั่วเหลือง ข้าวโพด และข้าวสาลี ทำให้อาร์เจนตินาสูญเสียรายได้จากการส่งออกหลายพันล้านดอลลาร์ และราคาพืชผลในประเทศพุ่งสูงขึ้น
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว คะแนนนิยมของประธานาธิบดีอัลเบอร์โต เฟอร์นันเดซ ผู้นำอาร์เจนตินา ลดลงอยู่เหนือระดับ 20% เพียงเล็กน้อย ซึ่งเหตุผลหลักๆ มาจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างมากนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม นายเฟอร์นันเดซยังไม่ได้ยืนยันว่า เขาจะลงเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 หรือไม่
ปีที่แล้ว 94.8% ปีนี้พุ่งทะลุหลักร้อย
อัตราเงินเฟ้อของอาร์เจนตินาในปีที่ผ่านมา (2565) อยู่ที่ 94.8% ถือเป็นตัวเลขรายปีสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2534 แต่ปีนี้อัตราเงินเฟ้อของอาร์เจนตินาก็ยิ่งพุ่งแตะระดับกว่า 104% ถือว่าเป็นสถิตินิวไฮ แต่ก็ยังไม่ใช่สถิติสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา
อาร์เจนตินา นั้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคละตินอเมริกา แต่ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
ตัวเลขเงินเฟ้อของปี 2565 เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อนหน้า (2564) โดยอัตราเงินเฟ้อรายปีของปีดังกล่าวอยู่ที่เพียง 50.9% ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลอาร์เจนตินาตั้งเป้ากำหนดกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อสำหรับปีนี้ (2566) ไว้ที่อัตรา 60% เท่านั้น ขณะที่ในความเป็นจริงเงินเฟ้อได้พุ่งขึ้นถึงระดับ 104%
ข้อมูลเงินเฟ้อดังกล่าวถือเป็นข่าวร้ายของฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากขณะนี้เหลือเวลาน้อยลงทุกทีก่อนที่การเลือกตั้งทั่วไปจะมาถึง
ราคาสินค้าในอาร์เจนติน่าพุ่งขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้าและรองเท้า ราคาเพิ่มมากกว่า 120% ส่วนค่าบริการโรงแรมและร้านอาหาร ปรับตัวขึ้นน้อยกว่านั้นเล็กน้อยที่ 109%
สื่อต่างประเทศรายงานว่า ในอดีตที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อรายปีที่ “เลวร้ายที่สุด” ของอาร์เจนตินา นับตั้งแต่มีการจดบันทึกมา เกิดขึ้นในปีค.ศ. 1991 (พ.ศ.2534) ที่ 171% ซึ่งเป็นยุคสมัยการปกครองของประธานาธิบดีคาร์ลอส เมเนม
ในปีดังกล่าว เมเนมเริ่มแผนแปลงสภาพตรึงค่าเงินเปโซอาร์เจนตินากับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะจัดการกับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับรุนแรง แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกปล่อยทิ้งในอีกทศวรรษต่อมา
นับตั้งแต่นั้นมา อาร์เจนตินาต้องดิ้นรนต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจมายาวนานหลายปี และต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อในระดับเลข 2 หลักมาในทุกๆ ปี ในช่วง 12 ปีหลังสุด
เวลาผ่านล่วงมาถึงยุคสมัยของรัฐบาลนิยมซ้ายกลางของประธานาธิบดีอัลเบอร์โต เฟอร์นานเดซ เมื่อปลายปี 2565 มีการบรรลุข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับบรรดาบริษัทอาหารและสินค้าส่วนบุคคล ในการตรึงราคาสินค้าราว ๆ 2,000 รายการ มาจนถึงเดือนมีนาคม (2566) และจำกัดเพดานการปรับขึ้นราคาสินค้าอื่นๆ อีกราว 3,000 ผลิตภัณฑ์ ไว้ที่ 4% เป็นเวลา 1 เดือน
เศรษฐกิจของอาร์เจนตินา เติบโตราว 5% ในปีที่ผ่านมา (2565) หลังจากที่ 1 ปีก่อนหน้านั้น จีดีพีของประเทศขยายตัวถึง 10.3% ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดขวบปีแห่งภาวะถดถอย 3 ปีติดต่อกัน
ธนาคารโลกประมาณการว่าเศรษฐกิจอาร์เจนตินาในปีนี้ (2566) จะขยายตัวแค่ราว 2% เท่านั้น ซึ่งหากเป็นจริงเช่นนั้น มันจะกลายเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ที่เศรษฐกิจของอาร์เจนตินามีการขยายตัว 3 ปีติดต่อกัน (หลังจากที่เคยมีการขยายตัว 6 ปีติดต่อกันในช่วงปี 2546- 2551)
ข้อมูลอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 พบว่า มีชาวอาร์เจนตินาถึง 36.5% จากทั้งหมด 47 ล้านคน ที่ต้องใช้ชีวิตด้วยความขัดสน ในจำนวนนั้น 2.6 ล้านคนอยู่ในภาวะ “ยากจนสุดขั้ว” จากสถานการณ์ค่าแรงเพิ่มขึ้นไม่ทันเงินเฟ้อ นั่นจึงหมายความว่า ชาวอาร์เจนตินาหลายล้านคน ต้องพบเห็นอำนาจในการใช้จ่ายของพวกเขาลดวูบลงอย่างต่อเนื่อง