การจัดเลือกตั้งรอบสองของตุรกี ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ หลังจากที่ ประธานาธิบดีเรเจพ ทายยิพ แอร์โดอาน ผู้นำตุรกี วัย 69 ปี ได้รับคะแนนเสียงเพียง 49.46% ขณะที่คู่แข่งอันดับหนึ่ง คือนายเคมาล คิลิชดาโรกลู วัย 74 ปี จากพรรคพันธมิตรฝ่ายค้าน ได้คะแนนเสียง 44.79%
นายอาเหม็ด เยเนอร์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งของตุรกี เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (15 พ.ค.) ว่า จากผลการนับคะแนนไปได้ 99% ซึ่งคู่แข่งขันไม่มีใครได้คะแนนถึงเกณฑ์ 50% นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้จำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งรอบสองขึ้นในวันที่ 28 พ.ค.นี้
ปัจจุบัน ตุรกีซึ่งเป็นประเทศใหญ่ที่มีประชากร 85 ล้านคนและมีที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นประเทศที่เชื่อมต่อทวีปเอเชียและยุโรป กำลังเผชิญภาวะอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นมาก สภาวะการเมืองที่ไร้เสถียรภาพจึงยิ่งกลายเป็นปัจจัยลบที่ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจดูมืดมนไร้ทางออก
แม้ว่าปธน.แอร์โดอาน จะได้คะแนนดีกว่าผลโพลที่จัดทำขึ้นก่อนหน้าการเลือกตั้ง แต่คะแนนเสียงที่เขาได้ไม่ถึง 50% ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้ได้ชัยชนะตามกฎเกณฑ์ แอร์โดอานปรากฏตัวต่อหน้าผู้สนับสนุนอย่างมั่นใจและฮึกเหิม พร้อมประกาศว่าเขามีคะแนนนำคู่แข่งที่มีคะแนนตามมาเป็นอันดับสองถึง 2.6 ล้านเสียง และคาดว่า ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการรายงานผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ
การเลือกตั้งในตุรกีครั้งนี้ สะท้อนความหวังของประชาชนที่กำลังพยายามฝ่าความยากลำบากทางเศรษฐกิจ คณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า มีผู้ออกมาใช้สิทธิในครั้งนี้สูงถึง 88.8% ผลการนับคะแนนสะท้อนถึงความแตกแยกรุนแรงในตุรกี ที่เดินมาถึงทางแยกทางการเมือง
โพลเลือกตั้งที่จัดทำก่อนหน้านี้ชี้ว่า ประชาชนต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง และนั่นน่าจะทำให้คู่แข่งของนายแอร์โดอานซึ่งมาจากพรรคฝ่ายค้าน คว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง และหากเป็นเช่นนั้นก็น่าจะตีความได้ว่า ตุรกีที่ถูกปกครองโดยปธน.แอร์โดอานมายาวนาน 2 ทศวรรษกำลังจะมุ่งหน้าสู่เส้นทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ความท้าทายต่าง ๆ ก็ยังรอคอยอยู่เบื้องหน้า รวมถึงปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูง รวมทั้งการบริหารความสัมพันธ์กับรัสเซีย ตะวันออกกลาง และโลกตะวันตก
แต่เมื่อนับผลการเลือกตั้งออกมาจริงๆ คะแนนของผู้แข่งขันทั้งสองกลับสูสีกันโดยปธน.แอร์โดอานเป็นฝ่ายได้คะแนนนำคู่แข่งอยู่เล็กน้อยอีกด้วย ขณะที่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จัดขึ้นในวันเดียวกันกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี ฝ่ายพันธมิตรพรรคร่วมรัฐบาลของนายแอร์โดอาน ก็มีแนวโน้มจะสามารถครองเสียงข้างมากในสภา สถานการณ์จึงพลิกมาเป็นว่า เขาน่าจะได้เปรียบคู่แข่งในการเลือกตั้งรอบสองที่มีกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 28 พ.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม นายคิลิกดาโรกลู คู่แข่งของนายแอร์โดอาน ประกาศว่าเขาจะเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งรอบสองให้ได้ ขอให้ผู้สนับสนุนมีความอดทน นอกจากนี้ ยังกล่าวหาพรรคของนายแอร์โดอานว่า กำลังเล่นตุกติกและทำลายเจตจำนงของตุรกีด้วยการคัดค้านการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งกว่า 1,000 หีบ และยังใช้อำนาจรัฐบาลแทรกแซงการรายงานผลการเลือกตั้งอีกด้วย
ค่าเงินลีราดิ่งนิวโลว์
หลังมีข่าวว่า ตุรกีจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสอง ค่าเงินลีราซึ่งเป็นสกุลเงินของตุรกีก็ทรุดตัวลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินลีราดิ่งลงสู่ระดับ 19.6853 ลีราต่อ 1 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
นายฮากัน อัคบาส กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษา สเตรทเตจิก แอดไวเซอรี เซอร์วิส คาดการณ์ว่า ช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า (ก่อนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสอง) อาจเป็นช่วง 2 สัปดาห์ที่ยาวนานที่สุดในตุรกีและไม่ว่าอะไรก็อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น นอกจากนี้ เขายังคาดหมายว่า ตลาดหุ้นอิสตันบูลจะร่วงแรง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราจะมีความผันผวนมาก
นักวิเคราะห์คนอื่นๆ มองว่า นายซีนาน โอกาน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 3 ที่ได้คะแนนแบบถูกทิ้งห่าง 5.3% อาจเป็นผู้มีบทบาทในการกำหนดตัวผู้ชนะในการเลือกตั้งรอบสอง โดยขึ้นอยู่กับว่า เขาจะประกาศสนับสนุนใครระหว่างนายแอร์โดอาน หรือนายคิลิกดาโรกลู
การเลือกตั้งประธานาธิบดีตุรกีครั้งนี้ นับว่ามีความสำคัญต่อสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกด้วย โดยนักวิเคราะห์ในโลกตะวันตกส่วนหนึ่งมองว่า ถ้าปธน.แอร์โดอาน ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญที่สุดของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย สามารถคว้าชัยชนะ นั่นก็จะเป็นข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลเครมลิน แต่ในขณะเดียวกัน ย่อมทำให้คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตลอดจนถึงผู้นำมากมายในยุโรปและตะวันออกกลาง ที่กำลังมีปัญหาความสัมพันธ์กับแอร์โดอาน ต้องหนักใจ
แต่ในขณะเดียวกัน นายคิลิกดาโรกลู คู่แข่งของนายแอร์โดอาน ก็ใช่ว่าจะเป็นผู้ที่โปรตะวันตก เพราะเขาเคยประกาศให้คำสัญญาไว้แล้วว่า ถ้าหากได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีตุรกีคนต่อไป เขาก็จะรักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซียเอาไว้อย่างแน่นอน พร้อมกันนี้ ยังให้คำมั่นว่า จะฟื้นประชาธิปไตยภายหลังช่วงเวลาหลายปีที่ตุรกีต้องอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการของนายแอร์โดอานและภายใต้การปราบปรามของภาครัฐ
นายคิลิกดาโรกลู ยังประกาศว่าหากชนะการเลือกตั้ง เขาจะฟื้นฟูนโยบายเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ให้อำนาจสถาบันที่สูญเสียอำนาจการปกครองตนเองไปภายใต้ยุคของนายแอร์โดอาน และจะฟื้นความสัมพันธ์ที่ปีนเกลียวระหว่างตุรกีกับประเทศตะวันตก ซึ่งหมายรวมถึงการปล่อยตัวนักโทษการเมืองและนักเคลื่อนไหวนับพันคนออกจากคุกด้วย