การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ทางสถานะการเงินของ สหรัฐอเมริกา โดย ฟิทช์ เรทติ้งส์ วานนี้ (1 ส.ค.) มีขึ้นหลังจากที่ รัฐสภาสหรัฐ ผ่าน ร่างกฎหมายเพดานหนี้ภาครัฐ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากการเจรจาหารือระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติยืดเยื้อมาหลายเดือนจนหวุดหวิดจะทำให้สหรัฐต้องผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หลังถูกฟิทช์ปรับลดเครดิต นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ได้ออกมาแสดงทัศนะที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือสหรัฐครั้งนี้ เยลเลนระบุในแถลงการณ์ว่า การปรับลดความน่าเชื่อถือของสหรัฐโดยฟิทช์ฯ เป็นการกระทำโดยลำพังและตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลเก่า
ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ฟิทช์จับตาสหรัฐอย่างใกล้ชิดและส่งสัญญาณว่า จะปรับลดเครดิตจากความเสี่ยงทางการเมืองที่ใกล้ถึงจุดวิกฤตและภาระหนี้ที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตหนี้ภาครัฐ เมื่อปี 2011 (พ.ศ.2554) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออีกราย คือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (Standard & Poor's) หรือ S&P ได้หั่นเครดิตสหรัฐอเมริกาลงหนึ่งระดับมาอยู่ที่ AA+ ไม่กี่วันหลังจากที่สหรัฐบรรลุข้อตกลงเพดานหนี้ โดยอ้างถึงความขัดแย้งทางการเมืองและขั้นตอนต่าง ๆ ในการจัดการด้านการคลังของประเทศ
ข้อมูลอ้างอิง