จีน เผยแพร่เอกสารชื่อ "วิสัยทัศน์และแนวปฎิบัติเพื่อความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางคุณภาพสูง : อนาคตที่สดใสยิ่งขึ้นในทศวรรษหน้า" (Vision and Actions for High-Quality Belt and Road Cooperation: Brighter Prospects for the Next Decade) ซึ่งมีการระบุประเด็นสำคัญและทิศทางสำหรับความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2566 - 2576) ไว้หลากหลายด้าน
สำนักข่าว Global Times รายงานว่า โครงการริเริ่ม หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่เสนอโดยจีน ได้อัดฉีดโมเมนตัมการเติบโตใหม่ให้กับเศรษฐกิจโลกและสร้างพื้นที่กว้างใหญ่สำหรับการพัฒนาระดับโลก ซึ่งเชื่อว่าโครงการริเริ่มดังกล่าวจะนำผลประโยชน์มาสู่ประเทศหุ้นส่วนผ่านวิสัยทัศน์และแผนปฏิบัติการที่เพิ่งเปิดตัวสำหรับการพัฒนา BRI ในทศวรรษหน้า ที่จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาสีเขียวและดิจิทัล รวมถึงความมั่นคงและความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain) ทั้งนี้ จากความคิดริเริ่มที่จีนนำเสนอมาสู่แนวปฏิบัติระดับนานาชาติในครั้งนี้ ได้มีการฉลองครบรอบ 10 ปีไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา (ปี 2556-2566)
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา BRI ได้กลายเป็นสินค้าสาธารณะระดับนานาชาติที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และเป็นเวทีสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศที่แสดงให้เห็นว่า การนำเข้าและส่งออกทั้งหมดระหว่างจีนและประเทศที่เข้าร่วมนั้น มีมูลค่าทะลุ 21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงด้านการลงทุนโดยตรงของจีนในประเทศหุ้นส่วน BRI เองก็มีมูลค่าสูงถึง 2.70 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ถือเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือที่เพิ่มตัวขับเคลื่อนการเติบโตใหม่ๆ ให้กับเศรษฐกิจโลก ที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 150 ประเทศ และมีองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมมากกว่า 30 องค์กร นอกจากนี้ สี จิ้นผิง ยังได้กล่าวในงานแถลงข่าวอีกว่า “โอกาสในการร่วมกันสร้าง BRI นั้นสดใสอย่างมาก”
มุมมองนักวิเคราะห์และนักวิชาการ
นักวิเคราะห์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า แผนปฏิบัติการใหม่สำหรับการพัฒนาในอนาคตนี้มาได้ทันเวลา กล่าวได้ว่าเป็น "ทศวรรษทอง" ถัดไปสำหรับการเริ่มต้นขึ้นของ BRI ซึ่งแผนดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมใหม่ๆ และสิ่งที่ระดับโลกเป็นกังวล โดยจะประกอบไปด้วยภาคความร่วมมือใหม่ๆ เช่น นวัตกรรม เศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาสีเขียว ที่ควรได้รับการสำรวจเพื่อเติมความมีชีวิตชีวาและแรงกระเพื่อมให้กับโครงการ BRI
ประเด็นใหม่ที่โครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (BRI) มุ่งเน้น
นอกเหนือจากสิ่งที่ BRI ทุ่มเทในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานด้านนโยบาย การเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐาน การค้าที่ไม่มีอุปสรรค การรวมกลุ่มทางการเงิน และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ในเอกสารเผยแพร่วิสัยทัศน์และแนวปฎิบัติตามรายงานของสำนักข่าว Xinhua ได้เพิ่มความร่วมมือในด้านใหม่เข้ามา โดยระบุว่าจะมีเรื่องการพัฒนาสีเขียว รูปแบบความร่วมมือด้านดิจิทัลรูปแบบใหม่ นวัตกรรมเทคโนโลยี และความร่วมมือระหว่างประเทศด้านสุขภาพ
ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการใหม่จะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการบูรณาการทางการค้าและเทคโนโลยีล่าสุด รวมถึงด้านอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีที่เชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (IoT) เครื่องมือจัดเก็บแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และบล็อกเชน ซึ่งในทศวรรษหน้า ทุกฝ่ายจะได้รับการส่งเสริมให้มุ่งมั่นสู่ความร่วมมือที่เท่าเทียมกันและได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน นับเป็นการขับเคลื่อนความร่วมมือ BRI เข้าสู่ระยะใหม่ที่มีการพัฒนาคุณภาพสูง
Wang Peng ผู้ร่วมวิจัยจาก Beijing Academy of Social Sciences กล่าวว่า จะมีโอกาสสำหรับความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างจีนและประเทศหุ้นส่วน BRI เข้ามามากมาย เนื่องจากจีนมีประสบการณ์ที่กว้างขวางในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการพัฒนาดิจิทัล นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมดิจิทัลอยู่จำนวนมากในเวลาเดียวกัน พร้อมเสริมว่า "ในแง่ของ AI จีนและพันธมิตร BRI สามารถเสริมสร้างความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการกำกับดูแลกฎเกณฑ์ของ AI ตลอดจนทำการวิจัย รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยี AI ร่วมกันได้"
ขณะที่การพัฒนาคุณภาพสูงของ BRI เข้าสู่ระยะใหม่ ประเทศหุ้นส่วนคาดหวังว่าจะสามารถกระชับความร่วมมือทางเทคโนโลยีกับจีน เพื่อช่วยพัฒนาการผลิตอัจฉริยะและเศรษฐกิจดิจิทัลของตนเอง โดยเจ้าหน้าที่จีนได้มีการสรุปแผนปฏิบัติการ BRI ใหม่ในระหว่างการแถลงข่าวว่า การทำให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และขยายขอบเขตของข้อตกลงการค้าเสรีนั้น เป็นความร่วมมือสำหรับ BRI ที่เราจะมุ่งเน้นในอนาคต
ไม่เพียงเท่านั้น นักวิเคราะห์และองค์กรกล่าวอีกว่า การกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ BRI จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญต่อการดำเนินงานของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
จีน กับบทบาทสำคัญในการพัฒนาการค้าโลก
Hu Qimu รองเลขาธิการ Digital-real economies integration Forum 50 กล่าวว่า จากมุมมองของรูปแบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก จีนถือเป็นหนึ่งในจุดเชื่อมสำคัญ "สิ่งที่เราสนับสนุนคือ การมีผลประโยชน์ร่วมกันและการได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ดังนั้น จีนจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการค้าโลกเช่นเดียวกับเสถียรภาพของอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการกีดกันทางการค้าทั่วโลกที่แพร่หลายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่จีนก็มุ่งมั่นที่จะเปิดประเทศมาโดยตลอด”
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการนำเข้าและส่งออกรวมของจีนและประเทศหุ้นส่วน BRI มีมูลค่าสูงถึง 19.1 ล้านล้านดอลลาร์ และการลงทุนแบบสองทางมีมูลค่าเกิน 380 พันล้านดอลลาร์ ตามสถิติของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ซึ่งเป็นการลงทุนอันดับต้นๆ ของประเทศ นักวางแผนเศรษฐกิจ NDRC กล่าวว่า มีการดำเนินโครงการความร่วมมือ BRI จำนวนมากในด้านการเกษตร พลังงาน เศรษฐกิจดิจิทัล และสาขาอื่นๆ โดยจะส่งเสริมการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุตสาหกรรมในประเทศต่างๆ อย่างแข็งขัน
พร้อมยกตัวอย่าง รถไฟด่วนพิเศษจีน-ยุโรปจำนวน 79,900 ขบวนที่ใช้สำหรับเดินทางไปยังเมืองต่างๆ มากกว่า 200 เมือง 25 ประเทศในยุโรป และกลายเป็น "ช่องทางที่ได้รับความนิยมดีมาก" ในการรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
โครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (BRI) มีการเตรียมพร้อมอย่างดี
Maya Majueran ผู้อำนวยการโครงการ Belt and Road Initiative Sri Lanka (BRISL) ซึ่งเป็นองค์กรในศรีลังกา องค์กรที่เชี่ยวชาญด้านความร่วมมือ BRI กล่าวว่า BRI ได้ค่อยๆ ก้าวหน้าจากแนวคิดสู่การปฏิบัติ และจากวิสัยทัศน์สู่ความเป็นจริง โดยให้ผลลัพธ์ที่ประสบผลสำเร็จแก่ประเทศและผู้คนทั่วโลก
ปัจจุบัน จีนตั้งเป้าที่จะส่งเสริมการพัฒนา BRI คุณภาพสูง ยั่งยืน และมีคนเป็นศูนย์กลาง ผ่านความพยายามร่วมกันเพื่อสร้างโอกาสที่สดใสยิ่งขึ้นในทศวรรษหน้า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่า BRI จะนำผลประโยชน์มาสู่ประเทศหุ้นส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนความมั่งคั่งและความแข็งแกร่งมาสู่โลกตอนใต้ (Global South) และเปลี่ยนสมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างตะวันออกและตะวันตก” Maya Majueran กล่าวเสริม
จีน พร้อมส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงของ BRI ในอนาคต
จากการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นในเดือนตุลาคม มีผลงานส่งมอบถึง 458 รายการ รวมถึงสถาบันการเงินของจีนก็ได้จัดตั้งกรอบทางการเงินสำหรับโครงการ BRI ไว้ที่ 780,000 ล้านดอลลาร์ (109,000 ล้านดอลลาร์) ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้กล่าวงานแถลงข่าวว่า ทั้งหมดนี้จะรวมในส่วนของการสนับสนุนความร่วมมือคุณภาพสูงของ BRI ซึ่งมอบแรงผลักดันที่แข็งแกร่งสำหรับการเชื่อมต่อ การพัฒนา และความเจริญรุ่งเรืองทั่วโลกด้วย
Zhu Daocheng รองประธานของ JA SOLAR บริษัทผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ของจีน เผยว่า "เป็นเพราะการสนับสนุนทางการเงินจาก BRI ทำให้โครงการขนาดใหญ่ของเราสามารถนำไปใช้ในประเทศหุ้นส่วน BRI ได้ ส่งผลให้ประเทศอื่นๆ จำนวนมากสามารถบรรลุการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานได้" พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ยังมีประเทศอื่นๆ ที่คาดหวังจะได้รับประโยชน์ในการพัฒนาสีเขียวจาก BRI ด้วยเช่นเดียวกัน
โครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (BRI) เปิดกว้างสำหรับทุกคน
"จีนมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันมาโดยตลอด เพื่อแก้ไขการขาดดุลการพัฒนาระดับโลก และเสนอการพัฒนาที่ครอบคลุมซึ่งมอบผลประโยชน์ให้กับทุกคนผ่านทาง BRI จีน และเพื่อเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมต่อโลกผ่านวิสัยทัศน์ BRI คุณภาพสูงนี้ว่า ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์ของชาวจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้คนทั่วโลกด้วย” Maya Majueran ผู้อำนวยการโครงการ Belt and Road Initiative Sri Lanka (BRISL) กล่าว
ตามสถิติอย่างเป็นทางการ ปัจจุบัน จีนได้ลงนามในเอกสารมากกว่า 200 ฉบับกับ 152 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 32 องค์กรเกี่ยวกับความร่วมมือภายใต้ BRI ครอบคลุมร้อยละ 83 ของประเทศที่จีน โดยจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตด้วย
ด้าน Hazem Ben-Gacem ซีอีโอของ InvestCorp แพลตฟอร์ม Non-sovereign wealth fund private equity ที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง กว่าวว่า สภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council : GCC) เป็นหนึ่งในผู้รับผลประโยชน์ที่ใหญ่ที่สุดของ BRI "แนวคิดที่เป็นประโยชน์ร่วมกันและได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายของ BRI ได้รับการชื่นชมและเคารพอย่างมากจากนักลงทุนจากตะวันออกกลาง"
โครงการ BRI เป็น "กับดักหนี้" หรือไม่
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการโครงการ BRISL - Maya Majueran ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ชาติตะวันตกนั้นอิจฉา BRI และกล่าวหาว่าจีนมีส่วนร่วมในการทูต "กับดักหนี้" เพื่อทำลายชื่อเสียงของโครงการริเริ่มนี้ พร้อมตั้งข้อสังเกตอีกว่า "ผลการศึกษาล่าสุดจำนวนหนึ่ง รวมถึงการศึกษาของชาติตะวันตกแสดงให้เห็นว่า ไม่มีหลักฐานของสิ่งที่เรียกว่า กับดักหนี้ อีกทั้งชาติตะวันตกได้มีการเสนอความคิดริเริ่มหลายประการเพื่อตอบโต้ BRI อาทิ เรื่องความร่วมมือเพื่อโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนระดับโลก แต่กลับเป็นเพียงการพูดคุยกันโดยไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น"
ความเคลื่อนไหวของจีนแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนวทาง "Small yard, High fence” หรือ กลยุทธ์ปกป้องสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ โดยไม่สูญเสียผลประโยชน์ในวงกว้างที่ได้รับจากพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกตะวันตก ที่นำโดยสหรัฐฯ ในการกั้นตัวเองออกจากความร่วมมือระดับโลก Bao Jianyun ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเหรินหมินแห่งประเทศจีน (Renmin University of China) กล่าวทิ้งท้าย
แหล่งที่มา : Global Times , Xinhua