ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ในแต่ละปี ภาวะไฟป่าทั่วโลก ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังที่ปรากฏเป็นข่าวชวนระทึกขวัญในระยะหลังๆ นี้ เช่น ที่ฮาวายและแคนาดาเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา และล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์นี้ที่ประเทศชิลี ที่สถานการณ์ความรุนแรงของไฟป่า ทำให้รัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน
ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีความพยายามที่จะแสวงหา แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า แน่นอนว่าหลายมาตรการต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนรวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่บางมาตรการก็เกิดขึ้นได้ในพื้นที่
ดังเช่นความพยายามของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในมลรัฐโคโลราโด ทางฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา พวกเขาพยายามหาทางลดความเสี่ยงของการเกิดไฟป่าด้วยวิถีธรรมชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งของแนวทางก็คือ การถางป่าและการตัดกิ่งหรือตัดต้นไม้บางส่วนให้พื้นที่ป่ารกลดลง แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ เศษไม้และท่อนไม้ที่ถูกทิ้งไว้ในป่าอาจกลายเป็นเชื้อไฟได้อย่างไม่ยาก ขณะที่การจะขนย้ายเศษไม้และท่อนไม้เหล่านี้ออกไปจากป่า ก็มักจะมีค่าใช้จ่ายสูง
ดังนั้น เจ้าหน้าที่ป่าไม้นอกเมืองโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด จึงทดสอบวิธีใหม่ในการจะทำให้เศษไม้แห้งเหล่านี้สลายตัวไปอย่างรวดเร็วด้วยวิธีการทางธรรมชาติ และนั่นก็คือ การใช้เห็ดเชื้อรา นำมาเพาะและปลูกลงบนเศษไม้-ท่อนไม้ในป่า
แอรอน ครอปเลย์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ในเมืองโบลเดอร์กล่าวกับสำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐว่า เศษไม้บางส่วนที่หลงเหลืออยู่ในป่าได้ถูกบริจาคให้กับโครงการเพาะเห็ดเพื่อใช้ทดลองการบรรเทาอัคคีภัย พวกเขาทดลองการเพาะเชื้อเห็ดที่ ศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับเชื้อราและเห็ด “โบลเดอร์ มัชรูม” (Boulder Mushroom) ซึ่งก่อตั้งโดย แซค เฮดสตอร์ม
เฮดสตอร์ม เปิดเผยว่า ศูนย์ศึกษาฯแห่งนี้ ทำการเพาะเลี้ยงเห็ดป่าที่มีอยู่ตามธรรมชาติไว้ในห้องทดลอง เพื่อศึกษาหาวิธีการใช้ประโยชน์จากพันธุ์เห็ดต่างๆ ซึ่งพวกเขาพบว่า พวกเห็ดเหล่านี้อาจช่วยแก้ไขปัญหาไฟป่าได้ นอกจากนี้ พวกมันยังสามารถฟื้นฟูคุณภาพดินหลังเกิดไฟป่าได้อีกด้วย
ตัวอย่างของประโยชน์ที่ว่า ก็คือกรณีที่ไฟป่าร้อนจัด ก็จะสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในดินจนทำให้มีความเสี่ยงของการเกิดดินถล่มได้ง่าย ซึ่งเฮดสตอร์มกล่าวว่า หากมีการนำเห็ดเชื้อรามาผสมในดินด้วย ก็จะทำให้สภาพของดินกลับมามีสภาวะทรงตัวได้ดีขึ้น เพราะเชื้อราไมคอร์ไรซาลในเห็ดช่วยให้พืชสามารถแบ่งปันน้ำและแบ่งปันสารอาหารให้กันและกันได้ดี
อย่างไรก็ดี การฟื้นฟูป่าพื้นที่ 1 เฮกตาร์ หรือราว 6 ไร่นั้น อาจต้องใช้เชื้อเห็ดจำนวนมาก
ดังนั้น เพื่อที่จะทำให้มีปริมาณเชื้อราที่เพียงพอ ทีมงานของเฮดสตอร์มจึงได้เติมเชื้อราในปริมาณเล็กน้อยลงในถุงดินสำหรับปลูกเห็ดหลายร้อยถุง และภายในเวลาไม่กี่วัน ถุงเพาะพันธุ์เหล่านั้นก็เต็มไปด้วย “ราก” ของเชื้อราไมซีเลียมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการใช้เพื่อการบรรเทาปัญหาไฟป่า
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เศษไม้ที่อยู่ในป่ามักเป็นเป้าหมายของการใช้เห็ดเชื้อราเพื่อสู้ไฟป่า อย่างที่เมืองเอเวอร์กรีน รัฐโคโลราโด เศษไม้กองโต ๆ ก็คือความเสี่ยงของการเกิดไฟป่าที่รอวันปะทุได้เป็นเวลานานหลายทศวรรษ ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงตัดสินใจเร่งกระบวนการย่อยสลายของเศษไม้ด้วยการใช้เห็ดป่าที่มีอยู่ในธรรมชาติท้องถิ่น
โดยกระบวนการดังกล่าว ใช้เวลาเพียงสองปีก็สามารถย่อยสลายเศษไม้กองยักษ์ได้ แต่ถ้าหากปล่อยให้กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ก็คงต้องใช้เวลาระหว่าง 20 ถึง 50 ปี ดังนั้น เห็ดจึงเป็นเหมือนตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดขึ้นได้เร็วกว่าปกติถึงกว่า 10 เท่า
การค้นพบนี้ทำให้กลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้บุกเบิกการบรรเทาการเกิดไฟป่าด้วยเห็ดเชื้อรา หวังที่จะขยายความพยายามดังกล่าวให้มีการใช้งานมากขึ้น เป้าหมายก็เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากไฟป่าให้รอดพ้นจากความเสี่ยงนี้ให้ได้