ไทยยังอยู่ Tier 2 เป็นปีที่สาม ใน "รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์" ของสหรัฐปี 67

26 มิ.ย. 2567 | 07:53 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มิ.ย. 2567 | 08:19 น.

ไทยยังอยู่ Tier 2 ต่อเนื่องเป็นปีที่สามในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ปี 2567 ที่จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ สะท้อนพัฒนาการสําคัญที่รัฐบาลไทยและภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันดําเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในขวบปีที่ผ่านมา

กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เปิดเผย รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจําปี ค.ศ.2024 (พ.ศ.2567) หรือ 2024 Trafficking in Persons Report: 2024 TIP Report ที่จัดทำโดย กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 เวลา 22.00 น. หรือ 11.00 น. เวลากรุงวอชิงตัน ซึ่งรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ใน 188 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยในปีนี้ ประเทศไทยได้รับการจัดระดับให้อยู่ใน Tier 2 ต่อเนื่องเป็นปีที่สาม สะท้อนถึงพัฒนาการสําคัญที่รัฐบาลไทยและภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันดําเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปีที่ผ่านมา

อาทิ จํานวนการสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดีการค้ามนุษย์ รวมถึงการระบุตัวตนผู้เสียหายที่เพิ่มขึ้น การสืบสวนสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิด การจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้เสียหายมากขึ้น และการจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหาย ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะที่ไทยอาจพิจารณาดำเนินการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ กต.ระบุว่า การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติของไทย โดยหน่วยงานในทุกภาคส่วนของรัฐบาลไทยมุ่งมั่นดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องและคุ้มครองประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยตามหลักสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไทย และเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงกับสหรัฐฯ เพื่อขยายขีดความสามารถและเพิ่มประสิทธิภาพให้เกิดความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

ระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จัดทำนั้น มี 4 ระดับ

สำหรับ ระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่สหรัฐฯ จัดทำนั้น มี 4 ระดับ มีความหมาย ดังนี้

  • กลุ่มเทียร์ 1 (Tier1) ประเทศที่ปฏิบัติตาม “มาตรฐานขั้นต่ำ” ของกฎหมายในการป้องกันและปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ของสหรัฐอย่างครบถ้วน
  • กลุ่มเทียร์ 2 (Tier2) ประเทศที่มีการดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าว แต่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์
  • กลุ่มเทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง (Tier2 Watch List) ประเทศที่มีการรายงานถึงเหยื่อการค้ามนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น หรือไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลของประเทศนั้น ๆได้พยายามต่อต้านการค้ามนุษย์
  • และ กลุ่มเทียร์ 3 (Tier3) ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายสหรัฐ และไม่มีความพยายามในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เลย

ประเทศไทยถูกขยับเลื่อนสถานะขึ้นเป็นเทียร์2 ที่ไม่ถูกเฝ้าจับตา มาตั้งแต่ปี 2022 (พ.ศ.2565) เป็นเพราะรัฐบาลไทยได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มมากขึ้นในการต่อสู้กับการลักลอบค้ามนุษย์ ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องศักยภาพและการระบาดของโควิด-19  เห็นได้ชัดว่าไทยได้เพิ่มการสืบสวนกรณีการค้ามนุษย์ มีการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องและการลงโทษผู้ประทำผิด มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์แห่งใหม่ จัดทำแนวทางสำหรับเจ้าหน้าที่ด้านแรงงาน และระบุตัวเหยื่อของการค้ามนุษย์ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การได้อยู่ใน “เทียร์2” สะท้อนว่า ประเทศไทยยังคงไปไม่ถึงมาตรฐานขั้นต่ำที่รัฐบาลสหรัฐกำหนดไว้ในหลายด้าน เช่น ผู้ถูกดำเนินคดีและลงโทษในคดีค้ามนุษย์ควรต้องมีจำนวนลดลง อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการระบุตัวผู้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ เป็นต้น

ส่วนประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 อาจจะต้องสูญเสียความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐในด้านต่างๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการค้า รวมทั้ง ยังอาจถูกสหรัฐ “คัดค้าน” หรือขวางลำ การได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันระหว่างประเทศที่เป็นแหล่งทุนต่าง ๆ  เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)  และองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ