ไบเดน VS ทรัมป์ ใครจะพลิกโฉมเศรษฐกิจสหรัฐ

10 ก.ค. 2567 | 06:08 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2567 | 04:28 น.

วิเคราะห์เชิงลึกถึงวิสัยทัศน์และนโยบายเศรษฐกิจของโจ ไบเดน และโดนัลด์ ทรัมป์ สองผู้นำที่ท้าชิงกันในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีแนวคิดแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยจะสำรวจว่าใครดีที่สุดสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนและอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้วางแผนสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่ทั้งสองแข่งขันกันเพื่อดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ใน ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ 

ท่ามกลางการเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลาออกจากการเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งจากพรรคเดโมแครตมากขึ้น หลังจากเขาทำผลงานได้ไม่ดีในการดีเบตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน

การนำเสนอของโจ ไบเดน วัย 81 ปีที่ไม่ประสบความสำเร็จระหว่างการดีเบตช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามและความสงสัยเกี่ยวกับความสามารถของเขาในการเป็นผู้นำต่อไปอีก 4 ปี เนื่องจากระหว่างดีเบต ไบเดนดูเหมือนจะเสียสมาธิ และบางครั้งก็ดูเหนื่อยล้าหรือสับสน

สถาบันวิจัยความคิดเห็น YouGov พบว่าในด้านเศรษฐกิจ ประชากรส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ มีความเชื่อมั่นในตัวโดนัลด์ ทรัมป์ มากกว่าโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โดยผู้ลงคะแนนเสียงที่สถาบันสำรวจความคิดเห็นในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้มีเพียง 26% เท่านั้นที่มองว่าไบเดนเป็นผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่มีความสามารถ ในทางตรงกันข้าม ทรัมป์มีคะแนนนิยมอยู่ที่ 47%

แต่ผลสำรวจสอดคล้องกับข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หรือไม่?

ทรัมป์เริ่มดำรงตำแหน่งวาระแรกเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2017 เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโต 2.4% ในปี 2020 เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจหดตัว 2.2% จากนั้นฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้าย โดยพุ่งสูงถึง 5.8% ขณะที่ภายใต้การนำของไบเดน ตามที่วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ บางคนกล่าวอ้าง เศรษฐกิจได้คงตัวที่อัตราการเติบโตประมาณ 2%  โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 2.1% ในปี 2024 

การเปรียบเทียบแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ไม่ได้เจอกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีภายใต้การนำของทรัมป์หรือไบเดน แต่กลับต้องดิ้นรนเพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์ร้ายแรง เช่น การระบาดของโควิด-19 และสงครามในยูเครน

 

หนี้สาธารณะพุ่งสูง

ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา การใช้จ่ายที่ไม่รอบคอบทำให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงเกิน 34 ล้านล้านดอลลาร์ เรื่องนี้นี้ถูกกล่าวโดยองค์กร Americans for Prosperity ซึ่งมีการอ้างว่าเป็นองค์กรที่สนับสนุนทรัมป์ โดยเว็บไซต์ขององค์กรอ้างว่าสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของไบเดนได้

แหล่งข้อมูลอย่างเป็นทางการ พบว่าหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่34 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2023 ซึ่งคิดเป็น 124% ของ GDP สหรัฐฯ

เเต่ข้อสังกตพบว่า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนภายใต้อดีตประธานาธิบดีทรัมป์มากกว่าภายใต้ประธานาธิบดีไบเดน ระหว่างปี 2017 ถึง 2021 ภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ หนี้ค้างชำระเพิ่มขึ้นจาก 19.84 ล้านล้านดอลลาร์เป็น 28.13 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 41.62%

ภายใต้การนำของไบเดน หนี้สินเพิ่มขึ้นจาก 28.13 ล้านล้านดอลลาร์เป็น 34 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนธันวาคม 2023 หรือเพิ่มขึ้น 20.86%

ตรงกันข้ามกับข้ออ้างของ Americans for Prosperity ที่กล่าวหาว่า ไบเดนใช้จ่ายอย่างไม่รอบคอบ กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ กล่าวโทษปัจจัยหลักสองประการคือ  การใช้จ่ายเพิ่มเติมซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดโควิด-19 และสงครามในยูเครน รวมถึงรายได้ภาษีที่ลดลงพร้อมกัน

รายได้ภาษีลดลงไม่เพียงเพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงการระบาดเท่านั้น แต่ยังเป็นผลมาจากการปฏิรูปภาษีของทรัมป์ในปี 2018 อีกด้วย การปฏิรูปทำให้ภาษีนิติบุคคลลดลงจาก 35% เหลือเพียง 21 % อัตราภาษีเงินได้ก็ลดลงด้วย การใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นได้รับการระดมทุนจากการกู้หนี้

ไบเดนและเงินเฟ้อ

 โจ ไบเดนทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และเงินเฟ้อก็พุ่งไม่หยุด เรื่องนี้ ถูกกล่าวโดยผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนียของสหรัฐฯ ในการสัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2024

ข้อสังเกตพบว่า คำชี้แจงนี้ไม่ได้กล่าวถึงว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหนึ่งปีแล้ว ตามข้อมูลของทำเนียบขาวอัตราในปี 2023 อยู่ที่ 3.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงเหลือ 3.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนในปี 2022 อัตราดังกล่าวอยู่ที่ 8 %

เมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในปี 2017 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.1% ลดลงเหลือ 1.2% ในปี 2020 แต่เพิ่มขึ้นเป็น 4.6% ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในปี 2021

หากดูจากข้อมูลสาเหตุที่แท้จริงของภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นคือ โควิด-19 และการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูง ไม่ใช่เป็นเพราะนโยบายเศรษฐกิจของไบเดน

ตลาดหุ้นสูง

ข้อสังเกตพบว่า ช่วงปีที่ผ่านมา ระหว่างเดือนเมษายน 2023-เมษายน 2024 ดัชนีหุ้น S&P 500เพิ่มขึ้น 27%

ดัชนี S&P 500 ถือเป็นดัชนีตลาดหุ้นหลักอันดับสามของสหรัฐฯ ร่วมกับดัชนี Dow Jones และ Nasdaq โดยประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุด 500 แห่งของสหรัฐฯ

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พุ่งสูงนั้นไม่ได้เกี่ยวกับคะแนนนิยมของทรัมป์มากนัก แต่เกี่ยวกับนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มากกว่า การฟื้นตัวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มต้นในช่วงปลายปี 2023 เมื่อเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดส่งสัญญาณว่าการปรับนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นในระดับประวัติศาสตร์น่าจะสิ้นสุดลงแล้ว เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2024 พาวเวลล์กล่าวว่า หากพิจารณาจากการพัฒนาที่ดีของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และหากเศรษฐกิจพัฒนาไปอย่างกว้างขวางตามที่คาดหวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งของปีนี้

ตามที่นักวิเคราะห์ระบุ มีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น เช่น ความคาดหวังในแง่ดีเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI 

ที่มา