บทบาทการบริหาร ธุรกิจของครอบครัว

25 ก.ย. 2565 | 23:03 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

เจ้าของธุรกิจครอบครัวมักมีอำนาจในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ ซึ่งหากสามารถจัดการช่องทางการใช้อำนาจในการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม จะทำให้มีความได้เปรียบทางการแข่งขันเป็นอย่างมาก และช่วยอำนวยความสะดวกให้สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้นำธุรกิจครอบครัวจำนวนมากสามารถเดินหน้างานใหญ่ได้ในทันที โดยไม่ต้องรอการตัดสินใจจากผู้บริหารและระบบบังคับบัญชาหลายลำดับชั้นอย่างที่พบมากในบริษัทมหาชน

              

แต่ในทางกลับกันหากใช้อำนาจนี้อย่างไร้ประสิทธิภาพ ธุรกิจก็อาจจะประสบความล้มเหลวได้เช่นกัน เจ้าของธุรกิจบางคนใช้อำนาจควบคุมมากเกินไป อาจจะยับยั้งการสร้างนวัตกรรมและทำให้ยากต่อการดึงดูดและรักษาคนเก่งเอาไว้ในองค์กร ขณะที่บางคนไม่ยอมทำการตัดสินใจสำคัญด้วยตนเอง ไปมอบอำนาจให้ผู้บริหารที่มองหาแต่ผลประโยชน์ของตนเอง จึงมีตัวอย่างธุรกิจที่เกือบจะถูกทำลายเนื่องจากมอบอำนาจการตัดสินใจให้กับผู้บริหารที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวที่ต้องการทำให้ธุรกิจลดขนาดลงและซื้อไว้เองในราคาที่ลดสะบั้นหั่นแหลกก็มี

              

การกำกับดูแลในธุรกิจครอบครัวเป็นเรื่องของการหาจุดสมดุลระหว่างการบริหารงานแบบจุลภาค (micromanaging) ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหัวหน้างานกับลูกน้องในทุกขั้นตอน กับการละทิ้งความรับผิดชอบไปเลย อีกทั้งจะมีความท้าทายมากขึ้นเมื่อครอบครัวและธุรกิจเติบโตขึ้น

              

ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำกรอบการดำเนินงานง่ายๆ เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจทางธุรกิจ นั่นคือ โมเดล 4 ห้อง (four-room model) ให้ลองนึกภาพของธุรกิจเป็นบ้านที่มีห้องสำหรับ 1) เจ้าของธุรกิจ 2) คณะกรรมการบริษัท 3) ผู้บริหาร และ 4) ครอบครัว อย่างละ 1 ห้อง โดยเจ้าของธุรกิจกำหนดเป้าหมายระดับสูงไว้และเลือกคณะกรรมการบริษัทซึ่งจะทำหน้าที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทและว่าจ้าง (หรือไล่ออก หากจำเป็น) ซีอีโอ

บทบาทการบริหาร ธุรกิจของครอบครัว               

ขณะที่ผู้บริหารจะทำหน้าที่กำกับการดำเนินงานของบริษัท และเนื่องจากคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารต้องทำการรายงานต่อเจ้าของธุรกิจ ดังนั้น 3 ห้องแรกจึงมีความทับซ้อนกันอยู่โดยมีห้องเจ้าของธุรกิจอยู่ด้านบน และห้องสำหรับครอบครัวซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษาความสัมพันธ์ทางอารมณ์ความรู้สึกของสมาชิกในครอบครัวกับธุรกิจ ตั้งอยู่ข้างห้องอื่นๆ อีก 3 ห้อง เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของอิทธิพลของครอบครัวและความสามัคคี (ภาพที่ 1)

 

ทั้งนี้ในธุรกิจที่สามารถดำเนินกิจการได้เป็นอย่างดี แต่ละห้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าใครเป็นสมาชิกในห้องไหน การตัดสินใจอะไรบ้างที่ต้องทำในห้องนั้น และทำอย่างไร ซึ่งบทบาทของคนจะแตกต่างกันไปในแต่ละห้อง เช่น ซีอีโอที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวสามารถบังคับบัญชาในห้องผู้บริหารได้ แต่ไม่ควรไปตัดสินใจว่าเจ้าของธุรกิจจะใช้เงินปันผลอย่างไร ขณะที่สมาชิกในครอบครัวที่ไม่ใช่เจ้าของก็ไม่สามารถเดินเข้าไปในห้องอื่นและทำการตัดสินใจได้เช่นกัน

              

ดังนั้นการกำกับดูแลแบบโมเดล 4 ห้อง จึงต้องมีลำดับชั้นการบังคับบัญชาและขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีความชัดเจนมาก ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของธุรกิจสามารถควบคุมปัญหาที่สำคัญที่สุดและมอบหมายความรับผิดชอบในการตัดสินใจอื่นให้ผู้อื่นได้ และยังสามารถกำหนดกระบวนการทบทวนการตัดสินใจเกี่ยวกับเป้าหมายของครอบครัวหรือธุรกิจ หรือทั้ง 2 อย่างได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลธุรกิจครอบครัวให้มีประสิทธิภาพได้ต่อไป

              

ที่มา: Josh Baron, J. June 13, 2022. The 4-Room Model Of Family Business Governance. Available:

https://familybusinessunited.com/2022/06/13/the-4-room-model-of-family-business-governance/

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,820 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2565