สินค้าและบริการมากมายในปัจจุบันมีลักษณะที่คล้ายคลึงตามประเภทของผลิตภัณฑ์ รูปแบบการนำเสนอหรือการขายสินค้าและบริการดังกล่าวจึงมักคล้ายคลึงกัน ด้วยการตั้งราคาแบบ penetration pricing และการยิงโฆษณาหรือบูสต์โพสต์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเข้าถึงและดึงดูดกลุ่มลูกค้าในวงกว้าง (mass market) ถึงแม้ว่าลูกค้าจะมีการรับรู้แต่ก็อาจจะไม่เกิดการจดจำ เนื่องจากได้รับข้อมูลหรือการโฆษณาที่คล้ายคลึงกันเหล่านั้นและมีความถี่มากจนเกินไป จนบางทีลูกค้าอาจมองไม่เห็นถึงคุณค่าและความแตกต่างของแบรนด์แต่ละแบรนด์ได้
สิ่งที่สำคัญสำหรับการนำเสนอสินค้าหรือบริการ คือการสร้างแบรนด์ (branding) ที่จะสร้างการจดจำให้แก่ลูกค้าได้ว่าสินค้าหรือบริการนั้นๆ มีความโดดเด่นและความแตกต่างอย่างไร อาจไม่จำเป็นต้องใช้รูปแบบ hard sale เสมอไป เพราะจะสร้างความรำคาญหรือความน่าเบื่อจนกลุ่มลูกค้าหนีไปเลือกผลิตภัณฑ์อื่นที่มีความน่าสนใจมากกว่าในรูปแบบ content ที่แปลกใหม่และน่าดึงดูด ด้วยการให้สาระข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ การใช้แคปชั่นตามสมัยหรือเทศกาล รวมถึงการทำคลิปหรือใช้เพลงที่กำลังเป็นที่นิยม
หลายๆ แบรนด์จึงเริ่มนำการทำ lifestyle content มาใช้กันมากขึ้น ด้วยการทำภาพหรือคลิปที่เป็นการใช้ชีวิตประจำวัน ใส่แคปชั่นคำคมหรือสาระเล็กน้อย แต่แอบสอดแทรก (tie-in) สินค้าหรือบริการของตน ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ไม่ว่าจะเป็นยาลดน้ำหนัก คอลลาเจน วิตามินซี ไฟเบอร์ ดีท็อกซ์ หรือโปรตีนเชค ที่มักทำ content เป็นภาพการรับประทานอาหารหรือเมนูอาหาร โดยวางผลิตภัณฑ์ไว้ในมุมใดมุมหนึ่งของภาพ และใส่ข้อมูลด้านสุขภาพพร้อมด้วยคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์เล็กๆ น้อยๆ ร่วมด้วย
การทำ lifestyle content จะไม่เป็นการสร้างแรงกดดันหรือแรงผลักไปยังกลุ่มลูกค้าเหมือนกับรูปแบบ hard sale ที่มักให้ข้อมูลในส่วนของราคาและโปรโมชั่นเพื่อเร่งระยะเวลาในการตัดสินใจซื้อ แต่ lifestyle content จะทำให้กลุ่มลูกค้าที่สนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เริ่มให้ความสนใจและติดตาม content จากผลิตภัณฑ์นั้นๆ เพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูลก่อนการตัดสินใจซื้อ เมื่อลูกค้าเกิดความรู้สึกสบายใจหรือมีข้อมูลที่เพียงพอจากการเลือกชม ก็จะเกิดความไว้ใจและความเชื่อใจในตัวผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตามมาโดยธรรมชาติ
ผลลัพธ์ที่ได้จากการนำ lifestyle content มาใช้อย่างแน่นอน คือการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ กลุ่มลูกค้าจะสามารถจดจำได้ว่า content ในลักษณะหรือรูปแบบนั้นๆ เป็นของแบรนด์ใดหรือใครเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ เมื่อลูกค้ามีความไว้วางใจในตัวผลิตภัณฑ์จากข้อมูลที่ได้รับ ก็จะเกิดการตัดสินใจซื้อ (purchase decision) การซื้อซ้ำ (repurchasing) และความรักต่อแบรนด์ (brand loyalty) ที่จะส่งผลต่อยอดขาย (sales) และผลกำไร (profit) ในระยะยาวตามมา โดยอาจจะไม่ต้องใช้ penetration pricing และการยิงโฆษณาหรือการบูสต์โพสต์
ภาพ: https://www.freepik.com/free-photo/healthy-menu-recipe-fooddiet_16473411.htm?query=food%20and%20supplement&collectionId=1046&&position=0&from_view=collections
อ้างอิง: http://freelance108.com/%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%9F%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88/
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,856 วันที่ 26 - 28 มกราคม พ.ศ. 2566