ก่อนอื่นที่ผมจั่วหัวไว้ว่า “เอเชี่ยนเกมส์ 2022” มิได้พิมพ์ผิดแต่อย่างใด แต่เพราะเอเชี่ยนเกมส์ที่เดิมถูกวางแผนจัดในปีก่อน โดนโควิดเบียดตกขอบ และคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งเอเซีย และรัฐบาลจีนตกลงเลื่อนการจัดการแข่งขันกันเป็นปี 2023 โดยยังคงชื่อ “เอเชี่ยนเกมส์ 2022” เช่นเดิม
โดยคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งเอเซียได้ออกแถลงการณ์ผ่านสื่อของรัฐบาลจีน เมื่อเช้าวันที่ 6 พฤษภาคม 2022 ว่า “เอเชี่ยเกมส์ครั้งที่ 19 ที่เดิมกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-25 กันยายน 2022 ถูกเลื่อนออกไป” ซึ่งในตอนนั้นก็ยังไม่มีกำหนดการใหม่ชัดเจน ก่อนที่จะคลอดกำหนดการอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมาว่า จะจัดในระหว่างวันที่ 23 กันยายน-8 ตุลาคม 2023
เหตุผลสำคัญก็เพราะการระบาดของชื้อโควิดที่เซี่ยงไฮ้ ที่มีจำนวนประชากร 26 ล้านคน ซึ่งถือเป็นการระบาดครั้งใหญ่สุดนับแต่วิกฤติโควิดอุบัติขึ้นเมื่อปลายปี 2019 และนำไปสู่การล็อกดาวน์ที่ยาวนานเกินกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้มาก
และโดยที่ หังโจว เมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง มีประชากรอยู่ราว 12 ล้านคน ตั้งอยู่ห่างจากเซี่ยงไฮ้ไม่ถึง 200 กิโลเมตร และยังไม่รู้เลยว่า จะเปิดเมืองได้เมื่อใดกัน รวมทั้งเอเชี่ยนเกมส์ก็เป็นกิจกรรมใหญ่ของภูมิภาคเอเซีย และเกี่ยวข้องกับการเดินทางและผู้คนจำนวนมาก
ประการสำคัญ จีนไม่อยากทิ้งโอกาสสำคัญครั้งนี้ให้สูญเปล่า หากต้องจัดกิจกรรมใน “ระบบวงจรปิด” (Close-Loop System) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่คุมเข้มแขกวีไอพี คณะนักกีฬา กรรมการ เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน รวมทั้งอาสาสมัครและผู้ชมการแข่งขัน ให้อยู่ในเส้นทางตลอดเวลา เหมือนเมื่อคราวเดินหน้าจัดงานการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง
ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา จีนได้ใช้โอกาสของการเป็นเจ้าภาพ “การแข่งขันกีฬา” ระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ในหลายด้านในเวลาเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ (National Brand) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านอาจทราบว่า ในวงการศึกษามีการทำวิจัยถึงความเชื่อมโยงระหว่างภาพลักษณ์ของประเทศ กับสินค้าและบริการอยู่มากมาย และพบว่า ภาพลักษณ์ของประเทศมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด กับภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการ และในทางกลับกันอีกด้วย
หมายความว่า ภาพลักษณ์ประเทศที่ดีจะส่งผลให้ผู้คน มีความรู้สึกเชิงบวกต่อคุณภาพสินค้า และบริการที่ผลิตขึ้นในประเทศนั้น และขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการที่ดี ก็จะส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศในทางกลับกัน
จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็น จีนมุ่งหวังที่จะใช้เวทีการแข่งขัน “ระหว่างประเทศ” เพื่อการเสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศ และสินค้าบริการควบคู่กันไป
ยกตัวอย่างเช่น เอเชี่ยนเกมส์ 1990 และโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ที่กรุงปักกิ่ง เอเชี่ยนเกมส์ 2010 ที่นครกวางโจว และกีฬามหาวิทยาลัยโลก 2023 ณ นครเฉิงตู ที่จบลงไปเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2023
ทุกครั้งที่เป็นเจ้าภาพ จีนจึงใส่ใจกับการพัฒนาทั้งระบบนิเวศ ตั้งแต่การออกแบบก่อสร้างสนามกีฬา โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งการจัดพิธีเปิด-ปิด และการต้อนรับแขกวีไอพี นักกีฬา เจ้าหน้าที่ผู้ฝึกสอน กรรมการ สื่อมวลชน อาสาสมัคร และบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่น รวมทั้งผู้ชมกีฬา ชนิดที่กลับประเทศของตนพร้อมกับความอิ่มเอิบและประทับใจยิ่ง
นอกจากนี้ จีนยังใช้โอกาสเหล่านี้ ในการการขับเคลื่อน หรือ แม้กระทั่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจผ่านการลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ตัวอย่างหนึ่งที่ผมชอบหยิบยกมาแลกเปลี่ยนกันก็ได้แก่ การสร้างสนามกีฬารังนก (Bird’s Nest) สนามกีฬาแห่งชาติที่ใช้ในพิธีเปิด-ปิดโอลิมปิกฤดูร้อนเมื่อปี 2008
การก่อสร้างสนามกีฬาแห่งนี้ใช้เวลาก่อสร้างกว่า 4 ปี โดยเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2003 และเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมีนาคม 2008
ทั้งนี้ ในช่วงแรกของการก่อสร้าง เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวดีจากสารพัดวิกฤติ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่กระจายตัวในหลายประเทศ ทำให้อุปสงค์ในตลาดโลกลดฮวบลง
และยิ่งใกล้ถึงเวลาการแข่งขัน โลกก็ยังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ หรือที่เรามักเรียกว่า “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” อย่างเต็มตัว เหล่านี้ส่งผลให้กำลังการผลิตเหล็กในขณะนั้นเหลืออยู่มาก บางคนเปรยว่า จีนสามารถสั่งปิดโรงงานเหล็กลงครึ่งหนึ่ง ก็ยังมากเพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลก
เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว จีนจึงตัดสินใจปรับแบบและก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติจีนเสียใหม่ โดยใช้เหล็กเป็นโครงสร้างหลัก เพื่อดูดซับอุปทานส่วนเกินดังกล่าวในอีกทางหนึ่ง ทำเอาสนามกีฬารังนกกลายเป็นสนามกีฬาที่ใช้โครงสร้างเหล็กที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน
แต่การก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาตินี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ประการแรก สนามกีฬานี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ โดยมีความยาวเหนือ-ใต้ 333 เมตร มีความกว้างตะวันออก-ตก 294 เมตร และจุดสูงสุดจากพื้น 68.5 เมตร สามารถรองรับผู้ชมได้ถึง 91,000 คน และภายหลังการแข่งขันโอลิมปิกสิ้นสุดลง จีนได้ถอดเอาเก้าอี้เสริมบางส่วนออก ทำให้รองรับจำนวนผู้ชมได้ 80,000 คนในปัจจุบัน
ประการที่ 2 ด้วยลักษณะเฉพาะของการออกแบบ ที่มีเส้นสายระโยงระยางสุดสลับซับซ้อน ก็ทำให้การก่อสร้างสนามกีฬาแห่งนี้ เต็มไปด้วยปัญหาอุปสรรคอย่างที่คาดไม่ถึง อาทิ การเตรียมแต่ละชิ้นงานที่มีองศาการบิดโค้งที่แตกต่างกัน การเคลื่อนย้ายชิ้นเหล็กขนาดใหญ่ และการประกอบชิ้นงานที่สลับซับซ้อน
บ่อยครั้งที่พบว่า ชิ้นงานย่อยที่ผลิตขึ้นมีขนาดและองศา ที่ไม่พอดีกับอีกชิ้นงานหนึ่ง หรือ แม้กระทั่งการยืดหดตัวของเหล็กในสภาพอากาศที่แตกต่างกันในแต่ละฤดูกาล
ประการที่ 3 ปักกิ่งก็อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในเรื่องแผ่นดินไหว จึงต้องการการออกแบบก่อสร้างเป็นพิเศษ ซึ่งในประเด็นนี้ วิศวกรประจำโครงการได้กำหนดให้ใช้เหล็กคุณภาพสูงที่มีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่น และ แข็งแรงเป็นพิเศษ ทำให้โครงการต้องเกณฑ์ช่างเชื่อมระดับมือพระกาฬมาทำงานเฉพาะนี้ ช่างเชื่อมเหล่านี้ยังถูกนำไปฝึกอบรมเป็นพิเศษ เพื่อการเชื่อมชิ้นส่วนเหล็กที่มีความอ่อนไหวสูง
ประการที่ 4 ด้วยโครงสร้างเหล็กจำนวนมหาศาล ที่มีน้ำหนักกดแนวดิ่งและแรงดึงแนวกว้างโดยรวมที่สูงมาก ปัญหาที่ตามมาก็คือ การเตรียมฐานรากจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ โดยต้องตอกเสาเข็มลงไปใต้ดินถึง 37 เมตร ตามด้วยการเตรียมแท่งผ่อนพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอีก 14,700 แท่ง ที่ถูกนำมาวางเรียงกัน แต่ละชิ้นห่างกันเพียง 2 มิลลิเมตร เรากำลังพูดถึงแรงกดระดับ 1,000 ตันในแต่ละจุดรองรับ
นอกจากนี้ ในการติดตั้งหลังคาที่มีน้ำหนัก 11,200 ตัน วิศวกรโครงการยังต้องสร้างเสาค้ำยันเอาไว้ตลอดเวลา จนกว่าการเชื่อมต่อ “รังนก” จะเสร็จสมบูรณ์และทรงตัวได้
เงื่อนไขและความท้าทายดังกล่าว ทำให้การก่อสร้างสนามต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า 420 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ก็เป็นสัดส่วน “น้อยนิด” เมื่อเทียบกับการเตรียมงานกีฬาโอลิมปิก ที่ข่าวว่าใช้เงินลงทุนรวมถึง 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
แม้ว่าจะต้องเผชิญกับสารพัดปัญหาดังกล่าว แต่จีนก็เดินหน้าก่อสร้างจนสำเร็จลุล่วง บ้างก็ว่าถ้าไม่ใช่วิศวกรและแรงงานจีนที่เต็มไปด้วยความทุ่มเท มุ่งมั่น และเปี่ยมด้วยประสบการณ์ก่อสร้างแล้ว การก่อสร้างคงไม่มีทางเสร็จสมบูรณ์ จนคนในวงการยกย่องให้สนามกีฬารังนกแห่งนี้เป็น “หนึ่งในความมหัศจรรย์ด้านวิศวกรรมการก่อสร้างของโลก” เลยทีเดียว
เราจะไปคุยกันต่อในตอนหน้าครับ ...