สัตตภัณฑ์ ราวเทียนบูชา ฝ่ายล้านนา

24 ส.ค. 2567 | 08:00 น.
อัพเดตล่าสุด :24 ส.ค. 2567 | 08:20 น.

สัตตภัณฑ์ ราวเทียนบูชา ฝ่ายล้านนา คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

เช้ามาวันนี้มีโอกาสทำบุญบ้านเขาใหญ่ ประดาท่านผู้มาร่วมบุญ ทั้งพระ เถร เณร ชี ก็แปลกใจว่า ที่หน้าแท่นพระพุทธรูปนั้น แทนที่จะตั้งเทียนคู่บูชาพระ กลับมีศิลปะวัตถุบางอย่าง ติดเทียน ๗ เล่ม จุดบูชาพระพุทธรูป คือ พระศรีศาสดา (จำลองสร้างมาจากวัดบวรนิเวศวิหาร) แทน

ก็ตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ติด(จุด) เทียนคู่ บูชาพระเล่า? จุดทำไมตั้ง ๗ ??

ก็จึงขอประทานกราบเรียนท่านๆไปด้วยใจมิตร ว่าอันราวเทียน ๗ เล่มนี้ ปวงเราชาวเหนือเรียกว่า สัตตภัณฑ์ เชื่อกันว่า ย่อมาจาก เขาสัตต(บริ)ภัณฑ์ ซึ่งเปนยอดเขาสำคัญทั้ง ๗ ในตำนานไตรภูมิกถา

ก็ไหนๆจะยกเชียงใหม่มาไว้ที่เขาใหญ่เข้าแล้วด้วยการทำบ้านให้เปนบ้านล้านนา ถึงเวลาก็ต้องบูชาพระด้วยเทียนจากสัตตภัณฑ์จึงจะได้บรรยากาศคำว่า สัตตะก็แปลว่า ๗ อยู่แล้ว ส่วน ภัณฑ์ ก็คือวัตถุ/วัสดุ

ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าตามคติไตรภูมินั้น เชื่อกันว่า อันที่เขาพระสุเมรุนี่เปนศูนย์กลางจักรวาฬ  ถูกโอบล้อมด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์ทั้งเจ็ดเทือกประกอบด้วย เขายุคนธร เขาอิสินธร เขากรวิก เขาสุทัส เขาเนมินธร เขาวินตกะ และเขาอัสกรรณ โดยแต่ละเขาจะเรียงเปนชั้นๆ ล้อมรอบเขาพระสุเมรุอย่างวงแหวน และมีแม่น้ำสีทันดร อีกเจ็ดสายคั่นเขาแต่ละเทือกไว้ ตำนานว่าในแต่ละยอดจะมีวิมานอยู่บนยอด อีกต่างหาก

ตัวเขาพระสุเมรุเองตั้งอยู่เหนือน้ำ 84,000 โยชน์ มีภูเขารองรับ 3 ลูก ที่ส่วนฐาน เรียกตรีกูฏ (สามเส้าหรือสามยอด)  ข้างบนมีวิมานในวิมานมีเทพเทวาต่างๆประทับอยู่ โดยทั้งหมดนี้มีพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าประทับอยู่เหนืออากาศบนยอดวิมานนั้น

ดังนี้แล้วเพื่อจำลองสถานการณ์มาไว้ให้เห็นจริงจังว่าพระพุทธองค์ท่านอยู่สูงเหนือเขาพระสุเมรุและบริวารทั้งเจ็ดลูก บรรพชนชาวล้านนาจึงมองภาพ cross section ตัดขวางเขาสัตตบริภัณฑ์ ออกมาเปนภาพตัดขวาง จนเห็นเปนแท่งแกนของภูเขาทั้งหมดเรียงลดหลั่นกันลงมา โดยหั่นความฟุ่มเฟือยออกไปบ้าง ทั้งแกนซ้าย/ขวา ให้สุทธิแล้วเหลือเจ็ดยอด นำมาวางอยู่เชิงแท่นพระเจ้า (พุทธบัลลังก์) ให้ภาพในตำนานมาปรากฏแก่ตาเสมือนจริง!

 

สัตตภัณฑ์ ราวเทียนบูชา ฝ่ายล้านนา

 

อีทีนี้เมื่อยอดทั้งเจ็ดนั่นมีวิมานเทวดาสถิตย์อยู่ก็ต้องมีรัศมีสว่างแสง ก็เหมาะพอดีเลย กับการจุดประทีปจุดเทียนผางถวายบูชา สล่า (ช่างฝีมือ) เมืองเหนือพากเพียรแสดงฝีมือ ทำการแกะสลักสัตตภัณฑ์น้อมถวายเปนพุทธบูชางามแท้งามว่า มาแต่โบราณ

ในขณะที่ช่างฝีมือล้านช้างร่มขาว ไม่ตัดความฟุ่มเฟือยออก ท่านคงภาพตัดขวางเทือกเขาวงแหวน ๑๔ หน่วยเอาไว้อย่างนั้น ลักษณะเปนคานโลหะแบนทอดขวางมีเสาคู่หนึ่งตั้งขึ้นรับหัวและท้ายคาน บนหลังคานติดบัวจงกลหรือลูกถ้วยรายเรียงเปนระยะห่างกันตามจังหวะ สำหรับติดเทียนเช่นกัน งานไม้สักแกะสลักลวดลาย นาคเกี้ยว ทำสีปิดทองสวยงาม เรียกว่า ราวไต้เทียน(ไต้ในที่นี้ก็คือจุดไต้)

ส่วนภาคกลางเรียกถ้วย/เบ้ารองรับแท่งเทียนว่า จงกล เวลาท่านผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอุทิศของสำคัญประจำตัวทำราวเทียน เช่นพระแสงดาบนั้น ช่างฝีมือก็จะเอาถ้วยจงกลนี้แหละไปเชื่อมติดบนราว เรียกผลงานสุดท้ายว่า จงกลกิ่งเทียน หรือ จงกลราวเทียน ตามรูปลักษณ์งานเทียนที่ไฟนอลแล้ว

 

สัตตภัณฑ์ ราวเทียนบูชา ฝ่ายล้านนา

 

ธรรมเนียมการสร้างสัตตภัณฑ์ราวเทียนนี้ เจ้าภาพ อาจจะเช่น พระสงฆ์ผู้ใหญ่ เจ้านายฝ่ายเหนือ หรือ คหบดี  มักจะเปนผู้ต้นคิด แบบร่างแบบขึ้นมาแล้ว พาไปให้สล่าช่างไม้ ดูแบบแล้วจ้างทำ หลายที่ช่างสล่าผู้มีใจบูชาก็ไม่ค่าแรง ขอร่วมกุศลด้วย  งานก็ออกมาวิลิสมาหรา ปราณีตสง่างามงดติดกระจกติดทอง ทว่าในทำนองเดียวกัน ชาวบ้านผู้ใจบูชา บางเวลานึกศรัทธา ก็อาจร่วมมือร่วมไม้สร้างงานอัน rustic เรียบง่าย แต่ทรงพลังขึ้นมาถวายวัด ก็น่านับถือชื่นชมเช่นกัน

หากว่าจะวิเคราะห์โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของสัตตภัณฑ์แล้วไซร้ คงสามารถแยกออกได้เปน 3-4 รูปแบบกว้างๆ

รูปแบบเเรก ค่อนข้างจะ rustic ตรงไปตรงมา คือเปนเสาเจ็ดต้นดื้อๆติดเบ้าจงกล งานนี้พบในวิหารวัดวังทอง เมืองลำพูนหริภุญไชย ส่วนที่เวียงนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ พบที่วัดสกิทาคามี ผาลาด ทางขึ้นดอยสุเทพ วันอินทราวาส ในเมือง และวัดต้นเกว๋น หางดง

อนึ่งว่าวัดต้นเกว๋น (ต้นตะขบ) นี้ จะละไว้ไม่เขียนถึงก็มิได้ ด้วยเปนวัดที่มีศิลปกรรมล้านนาดั้งเดิมที่สมบูรณ์และทรงคุณค่ามากที่สุดแห่งเวียงเชียงใหม่วัดหนึ่ง สร้างขึ้นเพื่อใช้เปนที่พักแรมของขบวนพระบรมธาตุศรีจอมทองในประเพณีแห่พระเจ้าเข้าเวียง วัดต้นเกว๋นนี้สมาคมสถาปนิกสยาม ให้รางวัลเปนอาคารอนุรักษ์ดีเด่น แต่เมื่อปี 2532 งามที่สุดคือศาลาจัตุรมุขซึ่งพบเพียงหลังเดียวในภาคเหนือถูกสร้างราว 150 ปีก่อน ส่วนการแห่พระเจ้าเข้าเวียง เปนประเพณีโบราณที่เจ้าหลวงเชียงใหม่จะให้ชาวเมืองได้สรงน้ำสักการะพระบรมธาตุฯ ก่อนที่จะเชิญพระบรมธาตุไปประทับยังวัดสวนดอกและวัดพระธาตุดอยสุเทพตามลำดับ

สัตตภัณฑ์แบบที่สอง เปนลักษณะหน้าบันไม้ทรงสามเหลี่ยม ทำด้วยไม้แกะสลักเปนลวดลายต่างๆ เต็มทั้งพื้นที่ มักมีรูปพญานาคทิ้งตัวเปนกรอบด้านนอก ส่วนด้านใน แกะลายมงคลต่างๆ

ที่มักจะมีรูปพญานาคปรากฏในสัตตภัณฑ์นั้น ก็เปนเพราะว่า ที่บริเวณเขาสัตตบริภัณฑ์พญานาคเปนผู้ให้น้ำซึ่งไหลวนลงมาจากเขาพระสุเมรุ การณ์อันนี้ศิลปินจึงแทนด้วยลายขดของพญานาคทิ้งตัว

 

สัตตภัณฑ์ ราวเทียนบูชา ฝ่ายล้านนา

 

ส่วนลายพันธุ์พฤกษานั้น ก็คือพืชพรรณต่างๆของป่าอย่างว่าหิมพานต์ ดอกไม้ลายเครือเถาของสวรรค์ชั้นต่างๆ ตามยอดเขาทั้งเจ็ด ดอกพุดตาน ดอกบัว ดอกประจำยาม ดอกขนัด (ดอกสับปะรด) ตามไตรภูมิตำรากล่าวว่า ที่สัตตบริภัณฑ์นั้นมีสระและแม่น้ำนับด้วยจำนวนพัน มีบัวทองขึ้นอยู่อรชรใบเขียวอย่างมรกตและไพฑูรย์ ตามหาดไม่มีทราย มีแต่แก้วประพาฬและมณีอันมีค่า ต้นไม้ก็เปนทอง ดอกและผลมีกลิ่นหอมดั่งกลิ่นทิพย์ ไหนจะมีดอกปาริชาติ ที่ส่งกลิ่นหอมไปไกลได้ถึง 100 โยชน์ ดอกกัลปพฤกษ์ที่วิเศษสารพัดนึก ตำนานว่าอยากได้อะไรเมื่อมาอยู่ใต้ต้นกัลปพฤกษ์ย่อมนึกเอาได้ทั้งนั้น ดอกมณฑาที่ใช้เปนเครื่องช่วยรฤกชาติ และ เปนสัญลักษณ์ที่ทวยเทพนิยมนำมาให้แก่ท่านผู้สำเร็จ

หลายคราวผู้สั่งทำสัตตภัณฑ์จะขอให้สล่าแกะลายสัตว์ประจำราศีปีเกิด เข้าไปด้วย ถ้าไม่ได้ ที่ไม่พอ ก็ใช้สัตว์นั้นๆ ทำการแบกเทินสัตตภัณฑ์ที่ฐาน มีทั้งที่จะอุทิศแก่ตนเองภายภาคหน้าหรือให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว สัตว์ที่จะพบได้ก็คือช้าง ม้า กระต่าย หนู เสือ ลิง ส่วนที่มีช้างก็คือว่า คนเกิดปีกุนนั้น เมืองเหนือเราไม่ได้ตีความว่าเปนปีหมู ตีความว่าเปนปีกุญ_ชร คือ ปีช้าง ใช้รูปช้างแทนปีเกิด ส่วนม้า ก็คือมะเมียตามปกติ แต่คำเฉพาะ เรียก สะง้า_ม้า ปีเส็ด_คนเมืองเหนือใช้เรียกปีจอ_หมา ต่างกับปีเม็ด_มะแม_แพะ!

นอกนี้ยังมีลายนางฟ้ารุกขเทวดา มักทำท่าเทพพนม บ่งนิยามความหมาย สาธุการ พลอยยินดี ในการกุศลบูชาต่างๆ ส่วนท่านผู้มีเชื้อจีน อาจนิยมให้แกะลายเมฆไหล บ่งนิยามความหมายคือ การอยู่เย็นเปนสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ข้อสังเกตนักเลงของเก่ามีว่า ลายเมฆไหลในสมัยก่อนจะไม่มีลายกนกเข้าแทรก

ในขณะที่รูปแบบสัตตภัณฑ์ของฝ่ายลำพูนและลำปางนั้นไม่เปนทรงสามเหลี่ยมแต่เปนทรงโค้งอย่างครึ่งวงกลมเสียมากกว่า ที่หน้าบันของทรงโค้งนี้ ไม่ค่อยใช้พญานาคทิ้งตัวเปนกรอบ แต่ใช้พญานาคขดหลายๆตัวซ้อนลงไปอย่างแน่นละเอียดแทน

จากรูปสัตตภัณฑ์ทรงโค้งนี้ จะพบว่าด้านบนแกะลายกุมภัณฑ์ ซึ่งก็เปนภูมิเทวาชนิดหนึ่งดำรงชีพอยู่ในเขาสัตตบริภัณฑ์เช่นกัน

 

สัตตภัณฑ์ ราวเทียนบูชา ฝ่ายล้านนา

 

ส่วนอีกภาพที่ปรากฏรูปหน้ากาฬ หรือ เกียรติมุขราหูนั้น ก็เรื่องยาวทำให้สั้นมีอยู่ว่า ที่บริเวณเขาสัตตบริภัณฑ์นั้น ก็มีพระอาทิตย์ และพระจันทร์อยู่ พระราหูท่านจงเกลียด จงคาบพระอาทิตย์และพระจันทร์ ก็เพราะสองท่านนี้ปากบอนไปฟ้องพระวิษณุว่าราหูขโมยกินน้ำอมฤตวิเศษอมตะ พระวิษณุท่านลงโทษขว้างจักรตัดตัวราหูออกเปนสองท่อน แต่ราหูก็ไม่ตาย(กินน้ำอมฤตไปแล้ว) ท่อนครึ่งบนยังเปนราหูอยู่ ส่วนท่อนล่าง กลายเปนอสูรอีกตนชื่อ พระเกตุ เพราะฉะนั้นด้วยความแค้นอันนี้เอง ราหูจะไปรออยู่ที่เขายุคันธรในวันที่พระจันทร์เต็มดวงและวันเดือนดับ พอพระอาทิตย์และพระจันทร์ผ่านมา ก็จับมาคาบกิน ผู้คนทั้งหลายเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า คราส คือ สุริยะคราส / จันทรคราส ยามเขียนเปนภาพจึงตัดตอนเขียนเปนราหูยักษ์ครึ่งท่อนตอนบนแขนทั้งสองโอบเข้าหาตัวจับเอาพระอาทิตย์และพระจันทร์เข้าปาก

อนึ่งส่วนเรื่องคติว่าข้างล่างของสัตตภัณฑ์จะต้องมีสัตว์แบกหนุนอยู่นั้น ก็ด้วยว่า ปกติแล้วเขาพระสุเมรุตั้งอยู่บนกูฏสามเส้า ทีนี้พอตัดขวางภาพแล้วก็จะเห็นเปนสองเส้าแทน ก็พอดีกันที่จะให้มีตัวสัตว์สำคัญแทนเส้าอย่างที่ว่า

ส่วนรูปแบบสุดท้ายคือ สัตตภัณฑ์ แบบขั้นบันได ซึ่งพบมากในพะเยา และแพร่น่าน นับกันว่าเปนศิลปะไทยลื้อ คือมีมิติที่สามมาปน การลดหลั่นของยอดเขาทั้งเจ็ดไม่เปนภาพตัดขวางอีกต่อไป ใช้วิธีจัดทรงอย่างบันไดก้าวขึ้นมาทำแทน สัตตภัณฑ์แบบนี้มักจะไม่มี

การแกะสลักมากนักแต่จะตกแต่งด้วยการปิดทองหรือทาสีโดยใช้กระดาษฉลุ โดยมักจะมียอดเสาประดับจำนวนไม่แน่นอนบางแห่ง 7 บางแห่ง 5  ก็สวยงามแบบดิบๆเข้าไปอีกแบบ

ตกบ่ายวันนี้ก็ถึงเวลาจุดเทียนมงคลต่างๆบูชา คุณพระรัตนตรัยกลางแจ้ง ก็ปักไม้รวก ทำสัตตภัณฑ์เฉพาะกิจขึ้นมา ท่านผู้ร่วมงานบุญทั้งหลายก็ฮือฮาว่าแหม่_ช่าง rustic ดีแท้นัก