ศิลปะไทลื้อ        

31 ส.ค. 2567 | 04:30 น.
อัพเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2567 | 04:33 น.

ศิลปะไทลื้อ คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

อันเนื่องมาจากฉบับก่อนซึ่งแวะไปแตะนิดเดียวเกี่ยวกับงานศิลปะฝ่ายไทยลื้อ ท่านผู้อ่าน_อดีตสื่อมวลชนรุ่นใหญ่ที่ได้เปนสมาชิกสภาผู้แทนหลายสมัย ท่านมีเชื้อสายทางไท(ย)ลื้อ ท่านก็กรุณาทักทายแนะนำว่า ยังมีงานศิลปะฝ่ายไทลื้อที่งดงามอีกมาก น่าเผยเเพร่ พร้อมยกตัวอย่างสิ่งของต้องใช้ในชีวิตผู้คนโดยใกล้ตัว นั่นก็คือ ผ้าทอ

ซึ่งก่อนจะไปถึงเนื้อเรื่องนั้น ขออนุญาตชี้แจงกับท่านพิสูจน์อักษรและนักปราชญ์ราชบัณฑิตก่อนว่าที่เขียน ไทยลื้อบ้าง ไทลื้อบาง และ ไท(ย)ลื้อ บ้างนั้น ก็เปนด้วยเพราะว่า คำว่า ไท นั้นแท้แล้วแปลว่า คน แปลว่า ชาว เช่นที่ภาพยนต์เรื่อง ‘ผู้บ่าวไทบ้าน’ ไทในที่นั้นก็แปลว่าคนบ้าน/ชาวบ้าน ผู้บ่าวก็คือผู้ชาย รวมความหมายว่า ผู้ชายชาวบ้าน หรือที่สมัยนี้นิยมใช้คำว่าผู้ชายบ้านๆ นั้นเอง

คำว่า ไท ใช้ประกอบกับอัตลักษณ์บอกเชื้อสายลื้อ เมื่อถอดความว่าไทคือชาว ก็บ่งนิยามความหมายว่า ชาวลื้อ -ไทลื้อ ส่วนในอีกนัยยะหนึ่ง ไทยลื้อ ย่อมแสดงความหมายการที่รัฐชาติไทยยอมรับว่า ชาวลื้อเปนคนไทย พอๆกับที่ชาวลื้อยอมรับความเปนผู้มีสัญชาติไทย ฉะนั้น

ดังนี้แล้วด้วยกลิ่นอาย

นัยยะความหมายแตกต่างอารมณ์บรรยาย ก็ขออนุญาตหยิบใช้ตัวสะกดตามจังหวะบรรยากาศเหมาะสม อันว่าวัฒนธรรมของชาวลื้อ มักเกาะกลุ่มอยู่แถบสิบสองปันนาเลาะเรื่อยมาจนถึง แขวงบ่อแก้ว แขวงคำม่วนใน ลาว ถึงพะเยา ถึงน่าน เปนอย่างน้อย

มูลเหตุความประทับใจที่ชวนให้มาศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับชาวลื้อ ก็เนื่องมาจากครั้งหนึ่งได้ไปพบงานจิตรกรรมอันงามงด ของท่านอาจารย์ดำรง วงศ์อุปราช ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งท่านวาดเรือนไทลื้อ โทนสีสว่างน่ารักน่าใคร่เอาไว้ งานชิ้นนี้เมื่อสัก 20 ปีก่อนอยู่ที่สถาบันไทยคดีฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ที่ว่างานของท่านสวยอย่างน่ารักน่าใคร่นั้นก็เพราะมีรายละเอียดของชีวิตผู้คนจุ๋งจิ๋ง จำลองภาพบ้านในฝันซึ่งมีอยู่จริงของชุมชนชนบทในป่า มาเปนงานจิตรกรรมวาดเขียนที่เปี่ยมไปด้วยบรรยากาศ ที่จำได้ในมโนสำนึกเวลานี้ เวลานี้คือภาพของเรือนมีใต้ถุนและมุงด้วยวัสดุทำนองฟางสีทองอุไรแรๆ มีเด็กวิ่งเล่นใส่เสื้อดำเข้มขลิบแดงๆชมพูสด งามเหลือทนจนอยากจะเข้าไปอยู่ในบ้านหลังนั้น! หรือถ้าเข้าไปไม่ได้เพราะเขาล็อคประตูก็ขอนั่งอยู่ในบริเวณบ้านเพื่อด่ำดื่มซึมซับความเป็นไปแห่งชีวิตอันเรียบง่ายแต่สีสันแสนงามของพวกเขาก็พอ

ในเรือนไทยลื้อนั้นผู้ชายจะสานงานไม้ งานหวาย งานไผ่ ให้เป็นวัสดุเอาไว้ใช้ในกิจกรรมประจำวัน ส่วนงานทอผ้ามักเปนหน้าที่ของสตรีชาวลื้อ ศิลปะฝ่ายงานผ้านี้ถักทอมาโดยปราณีตศิลปินอย่างมีจิตวิญญาณของครูผู้สร้างสรรค์ ทั้งตุง ทั้งผ้ามุง ผ้าเช็ด ปลอกหมอน ฯลฯ

การทอผ้าของสตรีไทลื้อมีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ด้วยเจตนาเปนการสะสมสร้างบุญด้วยความศรัทธา_ทอผ้าถวายพระ ทั้งลายทอที่ปรากฏบนผ้าทอบางชนิด เช่น ตุง ยังเปนสัญลักษณ์เก่าแก่สืบทอดมาจากความเชื่อดั้งเดิมในการนับถือถือสิ่งศักดิ์สิทธิและธรรมชาติที่น่าเคารพต่าง ๆ อีกด้วย

 

ศิลปะไทลื้อ        

 

ชาวไทลือจะมีประเพณีการทำบุญถวายทานในแต่ละเดือนของปี ที่เรียกว่า “ฮีตสิบสอง” -จารีต 12  คล้ายคลึงกับประเพณีของกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่เรียกและขนานนามตนเองว่า ไท/ไต กลุ่มอื่นๆ สิ่งของในเครื่องไทยทาน ที่เรียกกันว่า “ครัวทาน” นั้น จะมีผืนผ้าทอเปนส่วนประกอบอยู่เสมอ เช่น ในช่วงวันสงกรานต์ มีการทอตุงถวายวัด ในขณะที่ช่วงก่อนออกพรรษาจะมีงานอย่างว่าจุลกฐิน เปนการร่วมมือร่วมใจกันของสตรีทั้งหมู่บ้านทอผ้าจีวรให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน ถือว่าได้อานิสงส์มาก เรียก ‘ทานผ้าทันใจ’ ซึ่งคติเรื่องความทันใจนี้ ก็นับเนื่องมาตรงกันกับฝ่ายชาวเหนือเหมือนกัน ที่ว่ามีการสร้างพระพุทธรูปทันใจหรือพระเจ้าทันใจ และประดาพี่น้องชาวเมืองต่างๆพากันไปขอพรให้ได้ทันใจเหมือนอย่างชื่อของพระเจ้าหรือพระพุทธรูป ก็คือคติการสร้างพระพุทธรูปให้เสร็จภายในหนึ่งวันอย่างเดียวกันนี่เอง ซึ่งเทคนิคการสร้างให้ว่องไวทันเวลาทันใจ หนึ่งในนั้นก็คือการสานไม้ไผ่เปนโครงพระแล้วปิดด้วยกระดาษชุบปูนทำนองว่า paper mache

ส่วนในช่วงระยะออกพรรษาก็จะมีประเพณีการทำบุญใหญ่เรียกว่าประเพณี “ทานสลาก” ทำนองของไทยภาคกลางว่าสลากภัต ไทยภาคเหนือว่า “ทานก๋วยสลาก” ซึ่งออกเสียงเป็นสำเนียงคำเมืองว่า ตานก๋วย(โก๋ย) สลาก

คำว่าก๋วยก็คือชะลอม/ตะกร้าสานนั่นเองส่วนสลาก ก็คือ จับสลาก เพราะวัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์การทำทานนี้ห้ามจำเพาะเจาะจงแก่ผู้ใดเปนเรื่องการถวายแก่หมู่สงฆ์ส่วนภิกษุรูปใดจะได้รับไปนั้น ก็ต้องมาจับฉลากเอาเครื่องไทยทานที่ฝ่ายชาวลื้อทำในเทศกาลนี้ตกแต่งอย่างงามงด มีทั้งก๋วยสลากแบบธรรมดาและ “สลากย้อม” ซึ่งเปนการทำต้นสลากขึ้นมาอย่างต้นไม้ มีการประดับประดาเปนพิเศษ เจ้าของต้นสลากจะเปนหญิงสาวในวัยที่เหมาะแก่การออกเรือน

ทานอันนี้มีนัยยะได้ประกาศตนให้ชายหนุ่มทั้งหลายได้รับรู้ อย่างฝรั่งเศสว่า เดบูต็อง หรือ ที่เกาหลีเรียกกันว่า เดบิวต์ สมัยนี้ ตรงกับไทยว่า เปิดตัวการถวายทานต้นสลากพิเศษนี้จึงเปนกิจกรรมสนุกสนานที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวชาวไทลื้อได้มาช่วยกันตกแต่งประดับประดาต้นสลาก เกิดการพบปะเกี้ยวพาราสีและทำบุญร่วมกันเปนประเพณีที่งดงามตามคติชนวิทยา ซึ่งฉบับหน้าจะนำเรียนท่านโดยละเอียดอีกครั้งด้วยประเพณีนี้เปนจารีตวิถีเก่าแก่ที่พบในสิบสองปันนา และในกลุ่มชาวไทลื้อทั้งในไทย พม่า และ ลาว ที่ยังคงมีสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

 

ศิลปะไทลื้อ        

 

มาต่อกันด้วยเรื่องตุงตามที่เกริ่นไว้ อันว่า “ตุง” นั้น ก็คือ “ทุง” ซึ่งถ้อยคำนี้หมาย “ธง” นั่นเอง แต่ตุงเปนธงแบบห้อยทางยาว จากบนลงล่าง ทำนองเดียวกันป้ายธงญี่ปุ่นสมัยนี้ เมื่อเข้าไปภายในวิหารของวัดไทลื้อ สาธุชนก็จะ|เห็นตุงหลากหลายชนิดห้อยแขวนลงมาจากส่วนโครงบนของวิหาร ณ เบื้องหน้าพระประธาน ตุงเหล่านี้ทำขึ้นจากวัสดุต่าง ๆ กัน เช่น ผ้า กระดาษแม้กระทั่งธนบัตร ไม้ โดยมีขนาดมีรูปทรงตลอดจนการตกแต่งต่างกันออกไปตามระดับความเชื่อ ความศรัทธา และฐานะทางเศรษฐกิจของผู้สร้าง_ผู้ถวาย

คติความเชื่อเกี่ยวกับการถวายตุงแก่วัดนั้นเปนการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนัยหนึ่ง อีกนัยหนึ่งเปนการถวายเพื่อส่งกุศลให้แก่ตนเองในชาติหน้า

ฝ่ายปวงเขามีคติความเชื่อที่ว่า ตุงนั้นเปนของที่ทอดยาวลงมาอย่างบันได หากคนเราเมื่อตายไปแล้วเกิดตกนรก ก็จะพ้นจากการตกนรกได้โดยอาศัยเกาะชายตุงขึ้นหนี หากตายไปไปสวรรค์ ก็ได้ชายตุงที่สวรรค์ เกาะไปพบพระศรีอาริยเมตตรัย หรือไม่งั้นก็เปนที่พึ่งโดยสมมติที่จะเกาะไปถึงซึ่งพระนิพพาน

ชาวพุทธฟากขะโน้นแทบทุกคนจึงจะต้องได้ถวายตุงที่วัด อย่างน้อยก็สักครั้งหนึ่งในชีวิตตุงผ้าของชาวไทลื้อโดยทั่วไปจะกว้างสัก 10-50 เซ็น ยาวได้ตั้งแต่ 1-8 เมตร โครงสร้างประกอบด้วยส่วนหัว ตัว และหาง โดยมีไม้ไผ่สอดคั่นเปนระยะ ๆ และนิยมตกแต่งด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น กระดาษ ไหมพรม เมล็ดฝักเพกา(ลิ้นฟ้า) ทำเปนพู่ห้อยประดับตลอด เรียกส่วนตกแต่งนี้ว่า “ใบไส้” (ไบไทร) “ใบสะหลี” (ใบโพธิ์) “สวย”(กรวย) ส่วนหัวตุงมักจะทำเปนรูปโครงปราสาท โดยใช้ไม้แผ่นใหญ่ หรือไส้ขนาดเล็กกว้างประมาณ สามนิ้วมือเรียงติดกันหลายชิ้น แล้วต่อกันเปนโครง ส่วนหางตุงก็มักตกแต่งด้วยการถักเปนตาข่าย หรือใช้ไม้ไผ่ห้อยชายตุงเปนการถ่วงน้ำหนัก

ลักษณะตุงผ้าของชาวไทลื้อสวยงามนัก มีหลายแบบ ทั้งตุงดอก(ทอลวดลาย) ตุงขาว ในที่นี้ขอเล่าถึง ตุงดอก กับตุงขาว ก่อนตุงดอกทอด้วยเส้นฝ้ายสีขาว ส่วนตัวดอกตัวลายนั้นจะทอด้วยการขิตหรือการจก ส่วนตัวลวดลายที่คลาสสิกมากๆของไทยลื้อจะใช้สีแดงสลับดำ  ตุงดอกนี้มักจะทอเปนรูปปราสาทรายล้อมด้วยต้นไม้ ดอกไม้ นก คน ช้าง ม้า กับรูปสิ่งของเครื่องใช้บางอย่าง เช่น น้ำต้นคนโท พานขันดอก โดยให้บรรทุกอยู่บนเรืออันนับว่าเปนพาหนะที่จะนำปราสาท และสิ่งของครื่องใช้นั่นไปยังโลกวิญญาณ

โดยลายปราสาทนี่ก็มาจากประเพณีการทานปราสาทให้แก่ผู้ล่วงลับ ในสิบสองปันนาเรียกว่า ประเพณี “ทานจองคนไปบ่ป๊อก” - ทานให้คนที่ไปไม่กลับ

โดยเขาจะทำปราสาทจากโครงไม้หุ้มผ้าหรือกระดาษประดับประดาอย่างงาม ยอดของปราสาทมีความสูงได้ถึง 8 เมตร มีการห้อยผ้ายาวจากยอดปราสาทลงมาถึงพื้น ลักษณะเดียวกับตุงนั่นเอง ในปราสาทจะมีข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ผู้กระทำพิธีต้องการส่งไปให้ผู้ตายลับ มีทั้งเสื้อผ้า สิ่งทอ ตลอดจนเครื่องประกอบพิธีที่ทำในลักษณะเชิงสัญลักษณ์ เช่น ใช้ฟางมัดเปนรูปช้าง ม้า วัว ควาย  สิ่งของทั้งหมดนี้ จะกระทำพิธีถวายทานแก่พระสงฆ์

ในขณะที่ตุงอีกชนิดเรียกว่าตุงผ้าสี ตุงชนิดนี้ ไม่มีลวดลาย อาจทำขึ้นจากผ้าทอมือที่เรียกว่า “ผ้าฮำ” มีสีต่าง ๆ ไม่ว่าจะขาว ดำ แดง ม่วง เหลือง เขียว แยกออกเปน ตุงไชย (ออกเสียง “ตุงไจ”) ผืนผ้ายาว ส่วนหางตุงปลายจะเรียวลง ห้อยประดับด้วยพู่ นิยมแขวนประกอบพิธีมงคล เช่นทำบุญบ่อน้ำ ศาลา เจดีย์

ตุงซาววา (“ซาว” แปลว่า “ยี่สิบ”) ตุงชนิดนี้มีลักษณะเหมือนตุงไชยทุกอย่างแต่ว่าจะยาวมาก จนเปรียบเปรยว่ายาวยี่สิบวา นิยมมาถวายวัด ก็เพื่อจะสะเดาะเคราะห์ให้ตนเองหรือญาติมิตรเมื่อเวลาเจ็บป่วย ตุงงวงช้าง เปนตุงผ้าสีขาวลักษณะคล้ายกับงวงของช้างตกแต่งด้วยกระดาษสีตัดเปนพู่ห้อยไล่ช่วงตลอดผืนตุง ปลายตุงมีอุบะ ไว้บูชาพระธาตุ

 

ศิลปะไทลื้อ        

 

นอกนี้ยังมี “ตุงใย” ที่ทอเฉพาะลายช่วงล่าง ช่วงบนปล่อยเปนใยจากด้ายเส้นยืน ตกแต่งด้วยพู่ห้อยตลอดทั้งผืน บางทีใช้เส้นด้ายสลับสีหลาสีไขว้ไปมากับ

ส่วนตุงแต้มนั้น คำว่า “แต้ม” แปลว่า วาด หรือ เขียน ตุงแต้มนี่ทำจากผ้าสีขาวแล้ววาดภาพลงบนผืนผ้า คล้ายกับภาพพระบฎ นิยมวาดลาย เรื่องตำนานแม่กาเผือกกับพระพุทธเจ้าห้าพระองค์บ้าง วาดพระเจ้าสิบตน (ทศชาติชาดก) บ้าง โดยเขียนภาพพระเตมียะ พระมหาชนก พระสุวรรณสาม พระเนมิราช พระมโหสถ พระภูริทัต พระจันทกุมาร พระพรหมนาทร พระวิทูร และ พระเวสสันดร

ส่วนตุงพระเจ้าซาวแปด จะวาดภาพพระพุทธรูปลงบนผืนผ้า รวมทั้งหมด 28 ภาพมีที่มาจากคติความเชื่อว่าในพระอดีตพุทธเจ้าถือว่ามี 28 ตามพระไตรปิฎกขุททกนิกายพุทธวงส์

ท้ายสุดที่น่าสนใจมากๆคือตุงเข็ม ช่างฝีมือชาวไทยลื้อจะนำเข็มไปร้อยแขวนไว้บนตุงแขวนทั้งตุงไว้บนฐานชุกชีหน้าพระประธาน เชื่อกันว่าผู้ที่ทำทานด้วยเข็มเปนพุทธบูชา จะมีความฉลาดเฉียบแหลมเหมือนเข็ม ทั้งนี้ในอดีตจนปัจจุบันเข็มเปนเครื่องมือสำคัญสำหรับภิกษุสงฆ์ใช้เย็บจีวร ซ่อมข้าวของต่างๆ

ขอบคุณภาพสวยจาก museum Thailand