พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติในหลวง

26 ก.ค. 2567 | 22:30 น.

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติในหลวง คอลัมน์สังฆานุสติ โดย... บาสก

มหาเถรสมาคม ให้ทุกวัดทั้งในและนอกราชอาณาจักร แสดงพระธรรมเทศนา เรื่อง "วชิโรปมกถา ว่าด้วยปัญญาประดุจเพชร" เฉลิมพระเกียรติในหลวงเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567
 
พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรตินี้ ประพันธ์โดย พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธัมมจิตโต ปธ.9 ศ.ดร.) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส โดยมหาเถรสมาคมตรวจแก้ ในการประชุมครั้งที่ 12/2567 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 

ขอสรุปเนื้อหาและใจความพระเทศนา ดังต่อไปนี้

การจัดแสดงพระธรรมเทศนา วชิโรปมกถา ว่าด้วยปัญญาประดุจเพชร เพื่อเป็นเครื่องประคองฉลองศรัทธาประชาชน ให้ร่วมอนุโมทนาและบำเพ็ญกุศล ในส่วนธัมมัสสวนมัย เพื่อถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชน ทั้งนี้เพราะพระองค์ มีอัตตหิตสมบัติ หมายถึงความพร้อมแห่งคุณสมบัติส่วนพระองค์ที่พระบุญญาธิการ หนุนส่งให้ทรงมีกำลังของมหาบุรุษ 5 ประการ

  1.  พาหาพละ คือกำลังแขนหรือกำลังพระวรกาย 
  2.  โภคะพละ คือกำลังโภคสมบัติคือการมีทุนทรัพย์
  3.  อมัจจพละ คือกำลังอำมาตมนตรีข้าราชการ และข้าราชการ ที่สนองงาน
  4.  ภิสัจจพละ คือกำลังแห่งชาติตระกูลสูง 
  5.  ปัญญาพละ คือกำลังปัญญาหมายถึงความฉลาดเฉียบแหลม ที่เกิดจากการศึกษา และการคิดอย่างแยบคายที่ช่วยให้สามารถวินิจฉัยในการต่างๆ ทั้งภายในภายนอกได้ถูกต้องและแก้ปัญหาได้อย่างดี
     

ในบรรดาพละทั้ง 5 ปัญญาพละถือว่าสำคัญที่สุด เพราะสามารถใช้เป็นเครื่องกำกับควบคุมและนำทางในการแก้ปัญหาต่างๆได้

จึงสอดคล้องกับพระปฐมบรมราชโองการ ที่พระราชทานไว้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพ.ศ. 2562 ว่า เราจะสืบสานรักษาและต่อยอดและครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป

ตลอดเวลาที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ ตามพระปฐมบรมราชโองการคือต่อยอดสืบสานโครงการต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงริเริ่มไว้หลายประการด้วยกัน

นอกจากนั้นก็ยังทรงมีพระราชดำริโครงการอื่นๆ เป็นการต่อยอดขึ้นมาอีกหลายโครงการด้วยกัน ที่เป็นดังนี้เพราะทรงครองแผ่นดินโดยธรรม ทรงมีพละปัญญา สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน โดยไม่มีอุปสรรค เพราะทรงพระปัญญาประดุจเพชร ดังพุทธภาษิตว่า

วชิรัสสะ นัตถิ กิญจิ อเภชชํ มณิ วา ปาสาโณ วา แปลว่า ไม่มีแก้วมณีหรือก้อนศิลาใดที่ตัดเพชรได้

อย่างไรก็ตามมหาบุรุษ นอกจะมีปัญญาประดุจเพชรแล้วต้องมีความกรุณาด้วย เช่นผู้มีบุญมีอำนาจ อยู่บนประสาทที่สูงมองลงมาเห็นผู้มีความทุกข์ก็เกิดความกรุณาที่จะช่วยเหลือ ในที่นี้ ผู้ประพันธ์ยกเรื่องการเสียสละชีวิตของพญากวาง เพื่อช่วยเหลือกวางท้องแก่ ไม่ให้ถูกสังหารเป็นอุทาหรณ์

พระธรรมเทศนา สรุปว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นมหาบุรุษ ผู้พร้อมด้วย อัตตหิตสมบัติ คือกำลังแห่งพระปัญญาประดุจเพชร และทรงบำเพ็ญพระหิตะปฏิบัติ ด้วยอำนาจแห่งพระมหากรุณา จึงทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสานและรักษา และต่อยอดพระราชกรณียกิจของพระราชบุพการีและสมเด็จบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า เพื่ออำนวยประโยชน์ต่อประชาชนราษฎรตลอดไป
 
ดังนั้นในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รัฐบาลพร้อมด้วยคณะสงฆ์และประชาชนทุกหมู่เหล่าจึงมีสมานฉันท์พร้อมใจกันแสดงออกเป็นความปีติโสมนัสและจงรักภักดีด้วยการทำความดีมีประการต่างๆ เพื่อน้อมถวายพระพรชัยมงคล

ขอทรงพระเจริญ