กลุ่ม JMART…ซื้อได้ ไม่คุ้มเสีย?

10 ต.ค. 2566 | 21:38 น.

กลุ่ม JMART…ซื้อได้ ไม่คุ้มเสีย? คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์

*** หลังจากที่ในไตรมาส 2/66 หุ้นตระกูลเจ ซึ่งประกอบด้วย JMART, SINGER, SGC, JMT และ J ซึ่งเป็นอาณาจักรแสนล้านของ "อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา" ได้แจ้งตัวเลขการขาดทุนออกมารวมกันเกือบๆ 4.4 พันล้านบาท จนกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นปรับลงไปอยู่ในจุดต่ำที่สุดในรอบหลายปี และการขาดทุนที่ว่านี้ ก็เริ่มจาก SINGER ซึ่งขาดทุนมากที่สุดถึง 2,396 ล้านบาท SGC ขาดทุน 1,918 ล้านบาท JMART ขาดทุน 611 ล้านบาท และ J ขาดทุน 17 ล้านบาท จะมีก็เพียง JMT ที่แบกรับอาการ “เสียทรง” ของหุ้นทั้งตระกูลเอาไว้ ด้วยการเป็นบริษัทเดียวที่มีกำไร 551 ล้านบาท
 
ความน่าสนใจที่สุดก็คือ SINGER และ SGC ซึ่งเป็นบริษัทที่ขาดทุนเป็นอันดับแรกและอันดับที่สอง ซึ่งมีผลการขาดทุนรวมกันกว่า 4.3 พันล้านบาท เนื่องจาก SINGER ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 74.92% ของ SGC ต้องมาขาดทุนหนักเพราะการตั้งสำรองหนี้เสีย (NPL) ที่มาจากธุรกิจสินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ SGC เป็นผู้ดำเนินการ 

และแม้ว่าทาง SGC จะระบุว่าเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า ยึดจากลูกค้าผิดนัดในรูปของสินค้ามือสอง โดยไม่มีการขายคืนสินค้ายึดดังกล่าวให้กับบริษัทฯ แต่อย่างใด แต่ก็ปรากฏมีข่าว “ซุบซิบ” ในโลกออนไลน์ว่าทีมขายมีการ “เล่นตุกติก” จนทำให้มียอดขาย แต่ไม่มีเงินเข้ามาในระบบ และได้ลุกลามมาเป็นปัญหาของการขาดทุนในที่สุด
 
ความน่าสนใจต่อมาก็คือ การที่ JMART ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของทุกบริษัทในกลุ่ม ถือหุ้นใหญ่อยู่ใน SINGER อยู่ 25.20% และถือหุ้นอยู่ใน JMT อยู่ถึง 53.85% ก็มีอันต้องมาขาดทุนตามบริษัทลูก เพียงแต่การขาดทุนที่ว่านี้กลับดูเหมือนไม่ได้มาจากบริษัทลูก แต่มาจากการที่ JMART ได้เปิดหน้าเข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปซื้อหุ้น 15% ของ PRTR ในราคาหน้ากระดานของวันแรกที่เข้าตลาดฯ จนทำให้ JMART ติดดอยมาจนถึงทุกวันนี้ และนี่ยังไม่รวมไปถึงการทุ่มเงิน 1,200 ล้านบาท เพื่อแลกกับหุ้นเพียงแค่ 30% ของสุกี้ตี๋น้อย ซึ่งถูกตั้งคำถามตามว่า “ลงทุนแพงเกินไปหรือเปล่า” 

ท้ายที่สุดก็เป็นทาง JMT ซึ่งเป็นบริษัทเดียวในกลุ่มที่ยังพอมีกำไร แต่ประเด็นที่น่าสนใจของหุ้นตัวนี้ คือคำถามที่ว่าหุ้นตัวนี้ “คุ้มค่า” ที่จะลงทุนด้วยหรือไม่ โดยปัญหาแรกที่ต้องนำมาพิจารณา ก็คือ เรื่องของต้นทุนทางการเงิน ซึ่งมาจากทิศทางของดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงปีที่ผ่านมา จนอาจเป็นสาเหตุทำให้กำไรที่ควรจะได้ กลับมีอันจะต้องชะลอตัวลง 

ส่วนประเด็นปัญหาที่สอง เป็นเรื่องของผู้เล่นในตลาดที่มีมากขึ้น จนส่งผลให้ต้นทุนทางธุรกิจปรับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน เรื่องของราคาหุ้นที่ปรับร่วงลงมาตลอด ก็กลายเป็นปัญหาที่มองได้ว่า ยังไม่ใช่จุดที่ต่ำที่สุด เพราะสิ่งที่เรียกว่า “ต่ำแล้วต่ำอีก” ยังมีอยู่จริง 

ว่ากันถึงปัญหาเป็นรายตัวแล้ว...คราวนี้มาว่ากันถึงรายกลุ่มกันบ้าง 

อย่างแรกถ้าจำกันได้ก็จะรู้ว่าเมื่อปี 64 ทาง BTS ได้ทุ่มเงินลงทุนกว่า 1.75 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้ามาลงทุนกับ JMART โดยทาง BTS ได้ส่งบริษัทในเครืออย่าง บริษัท วีจีไอ จํากัด (มหาชน) (VGI) และ บริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ RABBIT (ชื่อเดิม บมจ. ยู ซิตี้) เข้ามาลงทุนใน JMART โดย RABBIT เข้าไปลงทุนใน SINGER จำนวน 24.9% และ RABBIT พร้อมกับ VGI ไปร่วมกันลงทุนใน JMART เป็นจำนวนรวมกว่า 1.04 หมื่นล้านบาท โดย RABBIT จะถือหุ้นในสัดส่วน 9.9% ในขณะที่ VGI ถือหุ้นในสัดส่วน 15.0% ซึ่งขณะนั้นทั้ง JMART และ SINGER มีราคาหุ้นเฉลี่ยพอๆ กันอยู่ที่ 40 บาท 

หมายความว่าถึงวันนี้กลุ่ม BTS ก็เป็นนักลงทุนที่ “ติดดอย” หุ้นตระกูลเจ โดยการติดลบมากกว่า 50% เลยทีเดียว

ส่วนปัญหารายกลุ่มอย่างที่สองก็มาจากเรื่อง “หนี้” ที่ไม่ว่าจะหนี้ที่มาจาก “หุ้นกู้” ที่ออกมาแทบทุกปี ...ปีละหลายรุ่น รวมไปถึงหนี้ที่มาจาก “สถาบันการเงิน” ซึ่งน่าจะมีอยู่ไม่น้อย ซึ่งกรณีนี้หากมองไปถึงเรื่องของผลการดำเนินงานและสภาพคล่องของบริษัทที่ขาดทุนแบบนี้แล้ว มันก็ทำให้เจ๊เมาธ์ อดที่จะกังวลใจขึ้นมาไม่ได้ว่า มีโอกาสที่หุ้นกลุ่มตัวเจ อาจจะเดินซ้ำรอยหุ้นตัวอื่น ที่ผิดชำระหนี้ไปก่อนหน้านี้ก็เป็นได้

ท้ายที่สุดบทสรุปก็ไม่มีอะไรที่มากไปกว่าการที่เจ๊เมาธ์ อยากเตือนเอาไว้ว่า “ต่ำแล้วยังมีต่ำกว่า” และอย่าได้คิดแค่ว่าเมื่อราคาหุ้นลงมาต่ำมากแล้ว จะกลับตัวขึ้นได้ง่ายๆ 

ตัวอย่างก็มีให้เห็นแล้ว...ขนาด BTS ยังติดดอย เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้เจ้าค่ะ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3930 ระหว่างวันที่ 12 -14 ตุลาคม 2566