นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนโครงการระบบส่งน้ำสนับสนุนการฟื้นฟูน้ำตกพุม่วงและป่าชุมชนบ้านเนินสมบัติ และโครงการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์สุพรรณบุรี
พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการ มอบต้นไม้ให้กับผู้นำชุมชน และปลูกต้นสุพรรณิการ์ ดอกไม้ประจำจังหวัดสุพรรณบุรีในพื้นที่โครงการฯ โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกระทรวง ผู้นำชุมชนและประชาชน
เข้าร่วมกิจกรรม และมีนายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวต้อนรับ ที่ วัดเขาถ้ำเสือ ตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นายวราวุธ ได้ขอบคุณชาว อำเภออู่ทอง สุพรรณบุรี ที่มาให้การต้อนรับ และรู้สึกอบอุ่นทุกครั้งที่ได้กลับมาที่นี่ พร้อมระบุว่าวันนี้รู้สึกปลาบปลื้มใจที่เห็นชาวบ้านยังนำเสื้อที่มีชื่อของบิดา คือ นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี มาสวมใส่ และวันนี้ในฐานะที่เป็นลูกชายก็พร้อมที่จะสานฝัน และสานต่อเจตนารมณ์ของบิดา ในเรื่องต่าง ๆ ที่ทำไว้ แม้ว่าอาจจะยังทำไม่ดีเหมือนสมัยที่นายบรรหารอยู่ แต่ก็พร้อมที่จะสานงานต่อ ก่องานใหม่ ให้ดียิ่งขึ้น
นายวราวุธ ยังเล่าว่าโครงการระบบส่งน้ำแห่งนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2562 หลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี นายนพดล มาตรศรี และ นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา
นำปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ มาหารือและนำไปสู่การริเริ่มพัฒนาวนอุทยานพุม่วง และฟื้นฟูน้ำตกให้กลับมาใหม่ โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และข้าราชการในกระทรวง มาช่วยกันทำงานในการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง พร้อมฝากเครือข่ายป่าชุมชนในพื้นที่ ช่วยกันดูแลรักษาให้คงอยู่ตลอดไป
สำหรับโครงการระบบส่งน้ำสนับสนุนการฟื้นฟูน้ำตกพุม่วงและป่าชุมชนบ้านเนินสมบัติ และโครงการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์สุพรรณบุรี เป็นการปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม และก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ พร้อมก่อสร้างระบบส่งน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ระยะทางรวม 2,700 เมตร อัตราการส่งน้ำ 1,770 ลบ.ม./วัน เพื่อส่งน้ำมายังน้ำตกพุม่วง ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภคของประชาชนในพื้นที่
พร้อมสนับสนุนน้ำสำหรับโครงการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์สุพรรณบุรี สวนพฤกษศาสตร์ประจําภาคตะวันตกแห่งแรกของประเทศไทย ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาวิจัยและการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุ์พืชของประชาชน โดยได้ค้นพบ "กระเจียวสุพรรณ" กระเจียวชนิดใหม่ที่มีการกระจายพันธุ์ในบริเวณนี้เป็นแห่งเดียวในโลกอีกด้วย
การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งนี้ จะทำให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่มีความยั่งยืนจากความร่วมมือของหน่วยงาน ชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ได้พัฒนาและรักษาระบบนิเวศ ส่งผลให้เกิดความสมดุลของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ต่อไป