"พล.ท.ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค" บิดา "พีระพันธุ์" ผู้บุกเบิกกิจการพลังงานในอดีต

14 ก.ย. 2566 | 06:45 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2566 | 07:19 น.

รู้จัก "พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค" บิดาและต้นแบบการทำงานของ "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน" เป็นผู้บุกเบิกกิจการพลังงานในอดีต บนตำแหน่งเจ้ากรมการพลังงานทหาร และผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิง สังกัดกระทรวงกลาโหม

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (รมว.พลังงาน) ภายใต้ครม.เศรษฐา1 โดยพีระพันธุ์นั้นเคยนำเสนอหลักคิดและนโยบายด้านพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้กลไกด้านกฎหมายที่เชี่ยวชาญมาปรับปรุงโครงสร้างด้านพลังงานของประเทศให้มีประสิทธิภาพ และสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ประชาชน  เช่น นโยบายการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีเพื่อลดราคาน้ำมัน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี พีระพันธุ์ ยังมีพื้นฐานชีวิตที่เกี่ยวข้องกับผู้บุกเบิกกิจการพลังงานในอดีต โดยในอดีต “พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค” ซึ่งเป็นพ่อของพีระพันธุ์ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกกิจการด้านพลังงานของไทย โดยดำรงตำแหน่งเจ้ากรมการพลังงานทหาร และผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิง สังกัดกระทรวงกลาโหม ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเร่งรัดพัฒนาประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง 

ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกก่อสร้าง “โรงกลั่นน้ำมัน” แห่งแรกของประเทศไทย ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2502 และเป็นผู้ก่อตั้งปั๊มน้ำมัน “สามทหาร” เพื่อจำหน่ายน้ำมันที่ขุดและกลั่นได้เองจากโรงกลั่นน้ำมันที่อำเภอฝางให้ประชาชนใช้ในราคาถูก และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมสมัยใหม่ในประเทศในเวลาต่อมา โดยรัฐบาลสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้แปรสภาพองค์การเชื้อเพลิงและปั๊มน้ำมันสามทหารให้กลายมาเป็น “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” 

สำหรับพลโทณรงค์ฯ นั้น เข้าดำรงตำแหน่งเจ้ากรมการพลังงานทหารและรักษาราชการผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิงในปี พ.ศ.2497 ก่อนดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิงเต็มตัวในปีถัดมา ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังเตรียมเจรจายกเลิกข้อผูกพันหลังสงครามที่ทำไว้กับบริษัทต่างชาติอย่างเสียเปรียบ โดยในข้อผูกพันดังกล่าวนั้นได้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทน้ำมันต่างชาติซึ่งเป็นบริษัทในเครือของประเทศผู้ชนะสงคราม สามารถเข้ามาทำการค้าขายน้ำมันในประเทศไทยได้อย่างเสรี และผูกขาดการขายน้ำมันให้แก่รัฐบาลไทย ขณะที่รัฐบาลไทยไม่สามารถทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันและไม่สามารถจำหน่ายน้ำมันให้แก่หน่วยงานราชการและประชาชน ยกเว้นในกิจการทหาร

รู้จักพลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาคต้นแบบการทำงาน"พีระพันธุ์" รมว.พลังงาน

อย่างไรก็ตาม ต่อมารัฐบาลไทยสามารถเจรจาต่อรองปรับแก้สัญญาให้คนไทยสามารถเปิดดำเนินกิจการน้ำมันได้เองเช่นเดียวกับบริษัทต่างชาติ โดยมีพลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค บิดาของพีระพันธุ์เป็นทั้งบุคลากรหลักในการเจรจาและเป็นทั้งผู้การวางรากฐานให้องค์การเชื้อเพลิงเป็นผู้ดำเนินการจัดหาและกลั่นน้ำมัน 

รวมทั้งดำเนินธุรกิจบริการน้ำมันเชื้อเพลิงให้ประชาชนในราคาถูกภายใต้ชื่อว่าปั๊มสามทหาร โดยต่อมาองค์การเชื้อเพลิง และปั๊มสามทหารก็ได้แปรสภาพมาเป็น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และกลายมาเป็น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ส่วนปั๊มสามทหารทั้งหมดก็กลายมาเป็น “ปั๊ม ปตท.” ในปัจจุบัน

รัฐบาลไทยในขณะนั้นยังได้เชิญภาคเอกชนมาร่วมทำการสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียม และกลั่นน้ำมันในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง ซึ่งถือเป็นยุคบุกเบิกอุตสาหกรรมปิโตรเลียมสมัยใหม่ในประเทศ

เมื่อรัฐบาลไทยในช่วงเวลาดังกล่าวได้เข้ามาดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมอย่างจริงจัง พลโทณรงค์ฯ จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในนามของกรมการพลังงานทหารและองค์การเชื้อเพลิงในกิจการพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะการขุดเจาะน้ำมันที่เริ่มต้นเป็นครั้งแรกของประเทศที่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบแห่งแรกที่พบในประเทศไทย 

รู้จักพลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาคต้นแบบการทำงาน"พีระพันธุ์" รมว.พลังงาน

พลโทณรงค์ฯ เป็นผู้ลงมือคุมการดำเนินการและการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของประเทศที่อำเภอฝางด้วยตนเอง จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม นำความภาคภูมิใจมาให้คนไทยและกองทัพไทยอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ผลักดันให้เกิดการตื่นตัวเรื่องจัดหาและพึ่งพาทรัพยากรพลังงานในประเทศ จนพัฒนาไปสู่การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทยในปัจจุบัน

ในระหว่างการบุกเบิกการขุดเจาะน้ำมันที่อำเภอฝาง พลโทณรงค์ฯ ยังได้ถวายการต้อนรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรกิจการของหน่วยสำรวจน้ำมันอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และทรงประทับแรม ณ พระตำหนัก ในบริเวณโรงกลั่นน้ำมันฝาง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2501  ด้วย

ด้านชีวิตส่วนตัวพลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2452 เป็นบุตรชายของ พระยาสาลีรัฐวิภาค และคุณหญิงขนิฐา สาลีรัฐวิภาค จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และได้เข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จเตรียมแพทย์รุ่นเดียวกับ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว โดยเลือกที่จะไม่ศึกษาต่อด้านการแพทย์ แต่สอบทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อที่ประเทศฟิลิปปินส์ จนได้รับปริญญาตรีด้านการประมงและด้านสัตววิทยา

หลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ พลโทณรงค์ฯ ได้เข้ารับราชการในกองการประมง กระทรวงเกษตราธิการ ก่อนขอโอนย้ายไปเป็นข้าราชการทหาร และได้ใช้ความสามารถช่วยเหลือราชการในการเจรจาการค้ากับต่างประเทศในยุคที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะปัญหาการค้าข้าวและน้ำมัน จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รักษาการผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และรักษาการปลัดกระทรวงเศรษฐการ 

ต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเศรษฐการ (ปัจจุบันคือกระทรวงพาณิชย์) ก่อนโอนมาดำรงตำแหน่งเจ้ากรมการพลังงานทหาร และ ผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิงที่ดูแลเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ ตั้งแต่ยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนถึงยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากนั้นจึงย้ายไปช่วยปฏิบัติราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเมื่อ พ.ศ. 2509 จนเกษียณอายุราชการ ภายหลังเกษียณอายุ พลโทณรงค์ฯ ยังรับเป็นอาจารย์พิเศษในภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยไม่รับเงินเดือนด้วย

ด้านชีวิตครอบครัว พลโทณรงค์ฯ สมรสกับ นางโสภาพรรณ (สกุลเดิม สุมาวงศ์) บุตรีพระมนูเวทย์วิมลนาถ และคุณหญิงแฉล้ม มนูเวทย์วิมลนาท มีบุตรธิดา 5 คน โดย “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” เป็นบุตรคนที่ 4