นาย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตือนรัฐบาลหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอยู่ที่ 1.22 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้จะเต็มเพดานหนี้สาธารณะที่ 70% และอาจไม่มีช่องในการรับมือหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในอนาคต ว่า เป็นคำเตือนที่ดี เพราะในช่วงวิกฤต แปลว่า เราต้องมีความเพียงพอของฐานะเงินในคงคลัง
อย่างไรก็ ตามหากเทียบระหว่างรัฐบาลไม่ดำเนินการอะไรเลย กับดำเนินการบ้าง อันไหนจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่ากัน
"แน่นอนถ้าเราไม่ทำอะไรเลยเงินคงคลังก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เทียบกับทำแล้วเศรษฐกิจเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นคำเตือนที่ดีเราจะรับไปดูอย่างละเอียด เพราะในแง่ของเงินคงคลังแล้ว เราต้องนึกถึงเสถียรภาพไปด้วย และไม่ได้กังวลผลกระทบต่อระดับหนี้สาธารณะว่าจะชนกรอบเพดาน 70% เพราะระดับหนี้ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ในกรอบ 4-5 ปีข้างหน้า"
ทั้งนี้ ครม.ได้เห็นชอบปรับแผนการคลังระยะปานกลาง โดยในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ในรายละเอียดจะมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ปี 2567 วงเงิน 1.12 แสนล้านบาท และจะจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมอีก 1 หมื่นล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอยู่ที่ 1.22 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet วงเงินรวม 500,000 ล้านบาท
นอกจากนี้นายพิชัย ยังกล่าวด้วยว่า เร็วๆนี้ กระทรวงการคลัง จะมีการหารือร่วมกับ กรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ถึงแนวทางการ และหลักเกณฑ์ฟื้นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อกระตุ้นให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นเดือนหน้าหรือไม่ หากทาง FETCO พร้อมก็สามารถนัดมาได้ทันที เพราะเรามีความพร้อมอยู่แล้ว