ปฏิวัติกฎหมายแรงงานไทย ผุด 20 อรหันต์-คณะบุคคล ชี้ขาดข้อพิพาท คนงานสไตรค์

20 ก.ค. 2567 | 10:18 น.
อัพเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2567 | 11:10 น.

กรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น ยกร่างประมวลกฎหมายแรงงาน รวบกฎหมายแรงงานอย่างน้อย 13 ฉบับ จัดระเบียบนายจ้าง ตั้งกองทุนพัฒนากำลังคน ผุด 20 อรหันต์ คณะกรรมการร่วมบริหารภาครัฐด้านแรงงาน 4 ฝ่าย - คณะบุคคล ชี้ขาด ข้อพิพาท คนงานนัดหยุดงาน-ปิดงาน

คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เตรียมยกร่างประมวลกฎหมายแรงงาน โดยรวบรวม “กฎหมายแรงงาน” อย่างน้อย 13 ฉบับ นำมาไว้เป็นฉบับเดียว เนื่องจากกฎหมายที่ใช้บังคับในภาคแรงงาน และระบบแรงงาน ที่กระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับและการดำเนินการตามกฎหมายแต่ละฉบับเป็นหน้าที่และอำนาจของหลายองค์กร ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีความทับซ้อนกัน

โดยเฉพาะสิทธิในการคุ้มครอง และสิทธิการรวมตัวของระบบแรงงานสัมพันธ์ซึ่งถูกบัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543

ตั้งกองทุนพัฒนากำลังคน

สำหรับร่างประมวลกฎหมายแรงงาน ประกอบด้วย 5 หมวด 118 มาตรา โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 

หมวด 2 การพัฒนากำลังคน เช่น มาตรา 17 ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคน รวมทั้ง จัดตั้ง “กองทุนพัฒนากำลังคน” โดยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน 

มาตรา 25 ให้ผู้จ้างงาน สถานประกอบการ องค์การผู้จ้างงาน องค์การผู้ทำงาน องค์กรวิชาชีพและองค์กรเอกชนซึ่งจัดให้มีการฝึกทักษะ เพื่อเพิ่มศักยภาพและแรงจูงใจในการทำงาน รวมทั้งการจ้างงานบุคคลกลุ่มพิเศษ ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและสิทธิประโยชน์ 

ส่วนที่ 3 หน้าที่ของผู้จ้างงานและผู้ทำงาน อาทิ มาตรา 50 ผู้ทำงานมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้จ้างงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม ไม่ละทิ้งงาน ไม่กระทำผิดอย่างร้ายแรง รวมทั้งต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้ลุล่วงโดยถูกต้องและสุจริต เว้นแต่คำสั่งนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและอนามัยของผู้ทำงานและบุคคลอื่น 

ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์  

ส่วนที่ 4 ชั่วโมงทำงาน เวลาพัก วันหยุด เช่น มาตรา 52 กำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานแต่ละวันของผู้ทำงาน “ไม่เกินวันละแปดชั่วโมง” และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้ว “สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมง” 

เว้นแต่งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยต้องมีเวลาทำงานปกติ “วันหนึ่ง ไม่เกิน 7 ชั่วโมง” และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วแล้ว “สัปดาห์หนึ่ง ไม่เกิน 42 ชั่วโมง” 

กรณีที่ไม่อาจกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงานแต่ละวันได้ได้ ให้ผู้จ้างงานและผู้ทำงานตกลงกันกำหนดชั่วโมงทำงานแต่ละวันไม่เกิน 8 ชั่วโมง เมื่อเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง 

ห้ามทำ OT – หยุดประเพณีไม่น้อยกว่า 30 วัน  

มาตรา 53 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสุขภาพ และความปลอดภัยในการทำงานของผู้ทำงาน “ห้ามไม่ให้ผู้ทำงานทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุดหรือทำงานล่วงเวลาในวันหยุด”

กรณีที่ผู้จ้างงานมีความจำเป็นต้องให้ผู้ทำงาน ทำงานล่วงเวลาทำงานวันหยุด หรือทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการร่วมบริหารภาครัฐด้านแรงงานกำหนด  

มาตรา 57 ให้ผู้ทำงานมีวันหยุดประเพณี “ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 30 วัน”  โดยได้รับค่าตอบแทนการทำงาน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติ 
กรณีวันหยุดประเพณีวันใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ ให้ผู้ทำงานได้หยุดชดเชยวันหยุดประเพณีในวันทำงานถัดไป 

กรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่อาจให้ผู้ทำงานหยุดตามประเพณีได้ ให้ผู้ว่าจ้างตกลงกับผู้ทำงานว่าจะ เลื่อนวันหยุดตามประเพณีไปหยุดในวันอื่น หรือ จ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้ 

มาตรา 58 ผู้ทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 1 ปี มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 วันและได้รับค่าตอบแทนการทำงาน ผู้ทำงานยังไม่ครบ 1 ปี ผู้จ้างงานอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ผู้ทำงานโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้ 

ผู้จ้างงานและผู้ทำงานอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้หยุดในปีนั้นเพื่อใช้สิทธิในปีต่อไปได้ 

ส่วนที่ 5 ค่าตอบแทนการทำงาน เช่น มาตรา 68 กรณีมีเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการ ทำให้ผู้จ้างงานไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นการชั่วคราว เป็นเวลาไม่เกิน 30 วัน ผู้จ้างงานมีหน้าที่รับผิดชอบตามสัญญาการจ้างงานและตามประมวลกฎหมายนี้ 

กรณีเกิน 30 วัน ให้ผู้จ้างงานนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการร่วมบริหารภาครัฐด้านแรงงาน หากพิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุที่สำคัญดังกล่าว ผู้ทำงานมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน การทำงานไม่น้อยกว่า 70 % ของค่าตอบแทนเป็นเวลาไม่เกิน 60 วัน

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการฯ กำหนดมาตรการแก้ไขเยียวยาให้เป็นธรรม  

พักงานได้ไม่เกิน 7 วัน 

มาตรา 69 ผู้จ้างงานไม่มีสิทธิสั่งพักงานผู้ทำงานในระหว่างสอบสวน เว้นแต่จะมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานกำหนดไว้ 

ทั้งนี้ ผู้จ้างงานต้องมีคำสั่งพักงานเป็นหนังสือระบุความผิด และกำหนดระยะเวลาพักกงานได้ “ไม่เกิน 7 วัน” โดยต้องแจ้งให้ผู้ทำงานทราบก่อนการพักงาน 

ระหว่างการพักงานให้ผู้จ้างงานจ่ายเงินแก่ผู้ทำงานตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการทำงานตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงาน แต่ต้องไม่น้อยกว่า 50 % ของค่าตอบแทน 

กรณีผู้ทำงานไม่มีความผิด ให้จ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ทำงานเท่ากับค่าตอบแทนการทำงานในวันทำงานนับแต่วันที่ผู้ทำงานถูกสั่งพักงาน พร้อมดอกเบี้ย 15 % ต่อปี 

หยุดงานเหตุจำเป็นในครอบครัว ห้ามเลิกจ้าง

มาตรา 70 ให้ผู้ทำงานลากิจธุระโดยได้รับค่าตอบแทนการทำงาน และถือเป็นวันทำงาน เช่น ลาฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ทางด้านแรงงาน หรือพัฒนาการศึกษาไม่เกินปีละ 30 วัน 

มาตรา 71 กรณีผู้จ้างงานจงใจไม่จ่ายค่าตอบแทนการทำงาน ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ หรือหลักประกันที่เป็นเงิน โดยการกลั่นแกล้ง หรือปราศจากเหตุผลอันสมควร ผู้จ้างงานต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มในอัตรา 15 % ทุกระยะเวลา 7 วันของเงินที่ค้างจ่าย นับแต่เมื่อพ้นกำหนดเวลาชำระเงินดังกล่าว 

ลาคลอดบุตร 180 วัน-ห้ามจ้างเด็กต่ำ 15 ปี 

ส่วนที่ 6 ผู้ทำงานเด็ก ผู้ทำงานหญิง และผู้ทำงานซึ่งเป็นบุคคลกลุ่มพิเศษ เช่น มาตรา 72 ผู้ทำงานเด็กย่อมได้รับการคุ้มครอง อาทิ ห้ามจ้างเด็กต่ำกว่า 15 ปีทำงาน ต้องไม่ให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี ทำงานระหว่างเวลา 22.00 น.- 06.00 น. ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด 

มาตรา 76 หญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อตรวจครรภ์ ลาก่อนคลอดและหลังคลอดครรภ์หนึ่งไม่เกิน 180 วัน 

ส่วนที่ 7 การสิ้นสุดสัญญาการจ้างงาน เช่น มาตรา 82 ผู้จ้างงานต้องไม่เลิกจ้างผู้ทำงาน เนื่องจากเหตุหนึ่งเหตุใด ดังต่อไปนี้ เว้นแต่ผู้ทำงานได้กระทำความผิดร้ายแรง เช่น ผู้ทำงานหยุดงาน ด้วยเหตุผลความจำเป็นที่สำคัญของสมาชิกในครอบครัว ได้แก่ บิดา มารดา บุตร สามีหรือภริยา หรือผู้อยู่ในอุปการะของผู้ทำงาน โดยผู้ทำงานได้แจ้งให้ผู้จ้างงานทราบแล้ว ภายในเวลาอันสมควร 

มาตรา 83 วรรคท้าย กรณีที่เลิกจ้างผู้ทำงานไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ผู้จ้างงานจ่ายค่าตอบแทนการทำงาน ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุดภายใน 30 วัน นับแต่วันเลิกจ้าง หรือวันบอกเลิกสัญญาหรือสัญญาการจ้างงานสิ้นสุด 

ห้ามนัดหยุดงาน-ปิดงานกิจการสำคัญ 

หมวด 4 แรงงานสัมพันธ์ อาทิ มาตรา 88 ผู้ทำงานและผู้จ้างงานมีสิทธิก่อตั้งและเข้าร่วมองค์การของตนโดยสมัครใจ ไม่ต้องได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้ รวมถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ การจำกัดสิทธิเสรีภาจะกระทำไม่ได้ 

มาตรา 92 รัฐมีหน้าที่ดำเนินมาตรการที่เหมะสม เพื่อส่งเสริมการพัฒนา รวมทั้งประโยชน์สูงสุดของการเจรจาต่อรองระหว่างผู้ทำงานและผู้จ้างงาน (องค์การผู้ทำงานและองค์การผู้จ้างงาน) โดยวิธีการมีข้อตกลงร่วม 

มาตรา 97 กรณีไม่มีการตกลงกัน หรือเจรจาไกล่เกลี่ยแล้วไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ถือว่าเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะใช้สิทธินัดหยุดงานหรือปิดงาน หรือทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องนำข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เข้าสู่การชี้ขาดของบุคคลหรือคณะบุคคล 

มาตรา 98 ห้ามไม่ให้ผู้ทำงานและผู้จ้างงานซึ่งใช้อำนาจหน้าที่ในนามของรัฐ หรือผู้ทำงานและผู้จ้างงานในกิจการสำคัญ รวมทั้งทหารและตำรวจใช้สิทธินัดหยุดงานหรือปิดงาน 

ทั้งนี้ กิจการที่สำคัญ หมายถึง กิจการใด ๆ ซึ่งการนัดหยุดงานหรือปิดงาน อาจนำไปสู่อันตรายถึงแก่ชีวิต ความปลอดภัยหรือสุขภาพของประชาชนบางส่วนหรือทั้งหมด 

มาตรา 99 รัฐมีหน้าที่ต้องกำหนดกลไกหรือมาตรการที่จำเป็นและเหมะสม เพื่อยุติข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ เพื่อทดแทนในกิจการที่ห้ามใช้สิทธิในการนัดหยุดงานหรือปิดงาน 

มาตรา 100 ก่อนใช้สิทธินัดหยุดงาน ให้องค์การผู้ทำงานจัดให้มีการลงคะแนนลับ เพื่อลงมติเห็นชอบการนัดหยุดงาน ต้องแจ้งการนัดหยุดงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กำหนดโดยคณะกรรมการร่วมบริหารภาครัฐด้านแรงงาน และผู้จ้างงานไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ต้องไม่ขัดขวางการทำงานของผู้ทำงานอื่นในสถานประกอบกิจการเดียวกัน ที่ไม่เข้าร่วมนัดหยุดงาน

มาตรา 101 ห้ามผู้จ้างงานจัดหาหรือจ้างบุคคลภายนอกมาทำงานแทนผู้ทำงานที่เข้าร่วมนัดหยุดงานหรือถูกปิดงาน 

ให้อำนาจรัฐมนตรีแรงงาน ชี้ขาด-ถึงที่สุด  

มาตรา 103 กรณีประกาศใช้กฎอัยการศึกหรือสถานการณ์ฉุกเฉินให้อำนาจรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้ได้รับการพิจารณาชี้ขาดจากคณะกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารแรงงานหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งทั้งสองฝ่ายยอมรับ ฝ่ายเรียกร้องมีสิทธิอุทธรณ์คำชี้ขาดต่อรัฐมนตรี คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีถือเป็นที่สุด

ส่วนที่ 3 การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม อาทิ มาตรา 106 ห้ามไม่ให้ผู้จ้างงานเลิกจ้าง บอกเลิกสัญญาการจ้างงานหรือโยกย้ายหน้าที่การงาน กรรมการองค์การผู้ทำงาน หรือกระทำการใดอันอาจทำให้กรรมการไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้ เว้นแต่ได้รับการพิจารณาอนุญาตจากคณะกรรมการร่วมบริหารภาครัฐด้านแรงงาน 

มาตรา 115 สิทธิประโยชน์ในเรื่องสวัสดิการให้ผู้จ้างงานในสถานประกอบการต้องจัดให้ผู้ทำงาน อันเป็นประโยชน์ต่อความสะดวกในการทำงาน จูงใจผู้ทำงานให้ทำงานอย่างมีผลิตภาพ รวมทั้งเกื้อกูลแก่ครอบครัว และดำรงชีวิตที่มีคุณค่า 

มาตรา 116 การกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เป็นไปตามมาตฐานตามที่คณะกรรมการร่วมบริหารภาครัฐด้านแรงงานกำหนด 

มาตรา 117 การจัดสวัสดิการตามมาตรา 115 และ 116 ให้รัฐบาล ผู้จ้างงานและผู้ทำงาน ร่วมสมทบเงินทุนในอัตราที่สมเหตุสมผลเป็นธรรม ตามที่คณะกรรมการร่วมบริหารภาครัฐด้านแรงงานกำหนด 
ผู้ทำงานมีสิทธิสมทบเงินกองทุนเพิ่มเติม

รวมทั้งการร่วมสมทบเพิ่มเติมจากรัฐบาลและผู้จ้างงาน เพื่อการรับสิทธิประโยชน์ที่สูงกว่าหรือนอกเหนือขั้นพื้นฐานหรือเป็นพิเศษแก่ตนเองและสมาชิกในครอบครัว 

การกำหนดและเปลี่ยนแปลงอัตราการสมทบเงิน ระยะเวลาการจัดเก็บ บริการตามสิทธิประโยชน์และอัตราประโยชน์ทดแทนให้กระทำได้โดยพิจารณาตามที่คณะกรรมการภาครัฐด้านแรงงานกำหนด 

ผุด 20 คกก.ร่วมบริหารแรงงาน 4 ฝ่าย  

ขณะเดียวกันยังมีร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการบริหารแรงงาน ที่ให้มี “คณะกรรมการร่วมบริหารภาครัฐด้านแรงงาน” จำนวน 20 คน เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายแรงงาน ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายละ 4 คน ดังนี้ 

  • ผู้แทนฝ่ายผู้ทำงาน
  • ผู้แทนฝ่ายผู้จ้างงาน
  • ผู้แทนฝ่ายรัฐ
  • ตัวแทนประชาชน 

นอกจากนี้ยังมี “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ด้านแรงงาน จำนวน 5 คน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานประกาศสรรหา และนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศแต่งตั้ง  

ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมบริหารภาครัฐด้านแรงงาน” ให้มาจาก “คณะกรรมการสรรหา” ที่นายกรัฐมนตรีเป็นคนแต่งตั้ง มีวาระการดำรงตำแหน่งตามวาระของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบประกาศแต่งตั้ง และให้อำนาจนายกรัฐมนตรีปลดกรรมการออจากตำแหน่งได้

เปิดอำนาจ 20 อรหันต์จัดระเบียบแรงงาน  

สำหรับอำนาจของ “คณะกรรมการร่วมบริหารภาครัฐด้านแรงงาน” กำหนดไว้ในร่างประมวลกฎหมายแรงงานหลายมาตรา อาทิ 
กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข กรณีที่ผู้จ้างงานมีความจำเป็นต้องให้ผู้ทำงาน ทำงานล่วงเวลาทำงานวันหยุด หรือทำงานล่วงเวลาในวันหยุด (มาตรา 53 วรรคสอง)

พิจารณาและกำหนดมาตรการแก้ไขเยียวยาให้เป็นธรรม  กรณีมีเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการ ทำให้ผู้จ้างงานไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นการชั่วคราว เกิน 30 วัน 

หากพิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุที่สำคัญดังกล่าว ผู้ทำงานมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน การทำงานไม่น้อยกว่า 70 % ของค่าตอบแทนเป็นเวลาไม่เกิน 60 วัน (มาตรา 68 วรรคสองและวรรคสาม)

กำหนดระเบียบให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการ กรณีผู้ทำงานมีการยื่นข้อเรียกร้องมากกว่าหนึ่งกลุ่ม และมีกรณีขัดแย้ง คู่กรณีร้องขอ (มาตรา 94 วรรคสาม)

มาตรา 103 กรณีประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้อำนาจรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้ได้รับการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ชี้ขาด (มาตรา 103)

พิจารณาอนุญาตให้ห้ามไม่ให้ผู้จ้างงานเลิกจ้าง บอกเลิกสัญญาการจ้างงานหรือโยกย้ายหน้าที่การงาน กรรมการองค์การผู้ทำงาน หรือกระทำการใดอันอาจทำให้กรรมการไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้ (มาตรา 106)

สิทธินำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลแรงงาน หากมีการฝ่าฝืนคำวินิจฉัยตามมาตรา 103 การประสานงานฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาความถูกต้องเกี่ยวกับการเรียกร้องหรือเจรจาต่อรองร่วมตามมาตรา 104 และการห้ามไม่ให้ปิดงานหรือนัดหยุดงานตามมาตรา 105 (มาตรา 108 วรรคสอง)

กำหนดการจัดสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางสังคมแก่ผู้ทำงานตามมาตรา 115  มาตรา 116 (มาตรา 117) 

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมานาเรื่อง “การรับฟังความคิดเห็นเพื่อยกร่างประมวลกฎหมายแรงงาน” ในวันที่ 26 กรกฎาคม2567 ที่อาคารรัฐสภา