นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร (กม.) รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 341,351.42 ล้านบาท
ขณะนี้ได้รับรายงานจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ในการประชุมบอร์ด รฟท. วันที่ 25 ก.ค.นี้ จะมีการเสนอให้ที่ประชุมบอร์ด อนุมัติเห็นชอบโครงการรถไฟไทย จีน เฟส 2 ช่วง โคราช-หนองคาย
ทั้งนี้ตามแผนหลังจากเสนอบอร์ด รฟท.อนุมัติเห็นชอบในโครงการแล้วกระทรวงคมนาคมจะเสนอเรื่องไปยัง คณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่ออนุมัติเห็นชอบต่อไป คาดว่ารฟท. จะเปิดประมูลให้เอกชนดำเนินการก่อสร้างต่อไป
"ส่วนสาเหตุที่กระทรวงคมนาคม มีนโยบายผลักดันไฮสปีดไทย-จีน เฟส 2 เนื่องจากปัจจุบันการขนส่งทางรางจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ลง ขณะเดียวกันทางประเทศ จีน และสปป.ลาว ได้ดำเนินการการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน จากจีนมายังสปป.ลาวแล้ว เหลือแค่เชื่อมต่อรถไฟเข้ามายังประเทศไทยที่จังหวัดหนองคายเท่านั้น" นายสุรพงษ์ กล่าว
ด้านการก่อสร้างไฮสปีดไทย-จีน ช่วงสะพานที่จังหวัดหนองคายนั้น จะเป็นความร่วมมือระหว่างไทย กับ สปป.ลาว โดยหลักการจะมีการออกแบบและก่อสร้าง พร้อมรับผิดชอบค่าก่อสร้างร่วมกัน
ขณะเดียวกันบนสะพานจะมีทาง 4 ทาง เป็นทางขนาด 1 เมตรจำนวน 2 ทาง ไว้รองรับรถไฟปัจจุบัน และทางรถไฟขนาด 1.435เมตร จำนวน 2 ทาง ไว้รองรับรถไฟความเร็วสูง สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย แบ่งเป็น ค่างานก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูง 235,129 ล้านบาท ,ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน 10,310 ล้านบาท
ค่าลงทุนระบบราง-ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล 80,165 ล้านบาท ,ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการ ควบคุมงานและรับรองระบบ 10,060 ล้านบาท
ตามแผนโครงการฯ จะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) จำนวน 10 สัญญา แบ่งออกเป็น งานโยธา 9 สัญญา ,งานติดตั้งระบบและอาณัติสัญญาณ 1 สัญญา
ขณะที่การก่อสร้างงานโยธาในโครงการไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2 ได้มีการปรับแบบเป็น ทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 202.48 กม. ทางวิ่งระดับดิน ระยะทาง 154.64 กม. เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมี 5 สถานีใหญ่ ประกอบด้วย
1.สถานีบัวใหญ่ 2.สถานีบ้านไผ่ 3.สถานีขอนแก่น 4.สถานีอุดรธานี 5.สถานีหนองคาย
รายงานข่าว กล่าวว่า การเสนอโครงการรถไฟไฮสปีด เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ไปยัง ครม. ทางกระทรวงคมนาคมจะเสนอเรื่องการเดินรถไฮสปีดตลอดเส้นทาง ตั้งแต่กรุงเทพฯ-หนองคาย
โดยใช้วิธีเปิดประกวดราคาให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP) วงเงินประมาณ 80,000 ล้านบาท หาก ครม. เห็นชอบจะต้องมีการศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตามมาตรา 22 พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
ใช้เวลาศึกษา 6 เดือน ก่อนส่งมายังกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการ PPP และเสนอ ครม. พิจารณาประมาณปลายปี 68
นอกจากนี้รถไฟไฮสปีดเฟส 2 รัฐจะลงทุนก่อสร้างเองทั้งหมด ขณะเดียวกันจะต้องเร่งจัดตั้งองค์กรขึ้นมา เพื่อบริหารการเดินรถไฟไฮสปีดตามมติ ครม.ก่อนหน้านี้
รายงานข่าว กล่าวอีกว่า หาก ครม. เห็นชอบรูปแบบ PPP จะสามารถดำเนินการขั้นตอนการเปิดประกวดราคาได้ทันที คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลประมาณกลางปี 69
อย่างไรก็ตามเบื้องต้นเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนงานระบบ และจัดหาขบวนรถเดินรถเพิ่มเติม เนื่องจากในเฟส 2 ไทยลงทุนดำเนินการเองทั้งหมด ไม่ได้เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับรัฐเหมือนเฟสที่ 1
แต่งานระบบและการจัดหาขบวนรถ จะใช้เทคโนโลยีเดียวกับเฟส 1 ตามสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร ที่ทางฝ่ายจีนเป็นผู้ดำเนินการ