นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรณีที่มีกระแสร้านค้าไม่อยากเข้าร่วมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับการเสียภาษีนั้น ขอยืนยันว่ากระทรวงการคลังจะไม่มีการนำข้อมูลยอดขายของร้านค้าที่เข้าร่วมดิจิทัล วอลเล็ต ไปส่งให้กับกรมสรรพากร
อย่างไรก็ตาม หากร้านค้ามียอดขายเพิ่มขึ้นถึงเกณฑ์ ก็มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีตามปกติ เช่น หากขายได้เพิ่มขึ้นจากปีละ 1-2 แสนบาท เป็น 1.8-1.9 ล้านบาท ก็มีหน้าที่ต้องยื่นจดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้อง
“ใครจะเข้าร่วมหรือไม่ เราบังคับไม่ได้ แต่ก็ไม่อยากให้ใครพลาดโอกาสนี้ เพราะโครงการนี้จะมีเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 1 ล้านล้านบาท ก็จะเป็นโอกาสให้ทุกร้านมียอดขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น”
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะมีการประชาสัมพันธ์ ให้ร้านค้าเกิดความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมถึงการเข้ามาในระบบภาษี ไม่ได้น่ากลัว เพราะหากเข้าแล้ว ก็สามารถนำค่าใช้จ่ายต่างๆ มาหักได้
ทั้งนี้ ดิจิทัล วอลเล็ต ยังอยู่ระหว่างเตรียมการ ยังไม่ได้เปิดรับลงทะเบียนร้านค้า โดยมีร้านค้าบางส่วนที่ยังไม่พร้อม เช่น กลุ่มวิสาหกิจบางแห่งที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่กำกับดูแลครบถ้วน ก็กำลังประสานให้มาขึ้นทะเบียนให้ครบ เพื่อเวลาเปิดลงทะเบียนจะได้เข้าร่วมโครงการได้อย่างไม่มีปัญหา
สำหรับภาพรวมผลตอบรับก็ดี เช่น ตัวแทนร้านค้าขนาดเล็กที่เดิมคาดไว้ 4-5 หมื่นราย ก็แสดงความสนใจเข้ามาแล้วเป็นแสนราย
ส่วนการเลื่อนแถลงข่าวลงทะเบียนดิจิทัล วอลเล็ต ในส่วนร้านค้า ก็ไม่มีอะไร เพราะไม่อยากให้สับสน เนื่องจากตอนนี้กำลังเปิดลงทะเบียนของประชาชนอยู่