ลุ้น กนง. "ลดดอกเบี้ย" เดือน ธ.ค. "SCB EIC" ชี้ต้นปี 68 เหลือ 2%

12 ก.ย. 2567 | 23:19 น.

ลุ้น กนง. "ลดดอกเบี้ย" เดือน ธ.ค. "SCB EIC" ชี้ต้นปี 68 เหลือ 2% จากสัญญาณอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวชัดเจนขึ้น ระบุส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากภาวะการเงินตึงตัวนาน เผย นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมยังเป็นทั้งความท้าทาย

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทย มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธ.ค.

และต่อเนื่องช่วงต้นปีหน้าไปอยู่ที่ 2% จากสัญญาณอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวชัดเจนขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากภาวะการเงินตึงตัวนาน

สำหรับค่าเงินบาท ช่วงที่ผ่านมาแข็งค่าเร็ว หลังดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ราคาทองคำสูงขึ้น และความกังวลการเมืองไทยที่คลี่คลาย 
 

โดยค่าเงินบาทในระยะสั้น อาจอ่อนค่าเล็กน้อยจากปัจจัยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก่อนกลับสู่เทรนด์แข็งค่าตามวงจรผ่อนคลาย (Easing cycle) ของสหรัฐฯ ซึ่งสิ้นปี 67 ประเมินเงินบาทอยู่ในกรอบ 34-34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และ 33-34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ดี นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมยังเป็นทั้งความท้าทาย และโอกาสให้หลายธุรกิจต้องปรับตัว ภาคธุรกิจไทยยังต้องเผชิญความท้าทายเชิงโครงสร้างฟันเฟืองการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากรอบด้าน โดยเฉพาะ 1. อุตสาหกรรมยานยนต์ที่อาจสูญเสียกำลังการผลิตในประเทศไปราว 40% หากการปรับตัวของค่ายรถยนต์ไม่เท่าทันกับกระแสนิยมที่กำลังเปลี่ยนไป 

และ 2. ผู้ประกอบการ SME เผชิญแรงกดดัน จากกำลังซื้อในประเทศที่เปราะบาง อีกทั้ง ยังถูกซ้ำเติมจากการตีตลาดจากสินค้านำเข้า กระบวนการผลิตและการตลาดล้าสมัย ดังนั้น การผลักดันให้ภาคธุรกิจเหล่านี้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ต้องพึ่งพามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ควบคู่กับนโยบายยกระดับความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว
 

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ตลาดจะเริ่มกลับมากังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Hard landing) ได้ โดยเฉพาะในสหรัฐ เพราะอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเร็ว จนเข้าเกณฑ์ของดัชนีเตือนเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ แต่ SCB EIC ประเมินว่าโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะลงอย่างนิ่มนวล (Soft landing) ยังมีสูงกว่ามาก

หากดูจากแรงส่งที่ดีของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักในช่วงครึ่งปีแรก และข้อมูลเร็วสะท้อนการขยายตัวในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ อัตราการว่างงานสหรัฐที่ปรับขึ้นเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุปทานแรงงานเพิ่มขึ้นด้วย นอกเหนือจากความต้องการจ้างงานที่ลดลง