จังหวัดภูเก็ต หัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญของไทย สร้างรายได้จากภาคอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนและนักท่องเที่ยว ทั้งไทยและต่างชาติ จำนวนมากขณะเดียวกันในพื้นที่ยังคงต้องปรับแผนพัฒนาในหลายด้านเพื่อดึงดูดผู้คนเข้ามาจับจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่น
นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากศักยภาพที่หลากหลายของจังหวัดภูเก็ต สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การขนส่ง และศูนย์กลางการบินของภูมิภาค พร้อมส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งในส่วนของ อบจ.ภูเก็ตมีแผนพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต โดยตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพ เพิ่มการใช้จ่ายต่อคน และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
แผนแรก คือ การพลิกโฉมการขนส่ง แก้ปัญหารถติดสะสมในตัวเมือง โดยโครงการนำรถ มาใช้แทนรถโพถ้อง สีชมพู ของทาง อบจ.ภูเก็ต ที่ให้บริการมานานกว่า 10 ปี โดยให้บริการใน 3 เส้นทาง บวก 1 เส้นทาง ประกอบด้วย
สายที่ 1 สายสีเหลือง เริ่มต้นที่สะพานหิน ไปสิ้นสุดที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลภูเก็ต ระยะทาง 11 กิโลเมตร
สายที่ 2 ท่าเรืออ่าวฉลอง-ห้างซุปเปอร์ซีป หรือสายสีแดง ระยะทาง 18 กิโลเมตร
สายที่ 3 ท่าเทียบเรือรัษฎา-สวนน้ำอันดามันดา หรือสายสีเขียว ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร
และบวกอีก 1 เส้นทางคือสนามบิน- หาดราไวย์ รวมระทางประมาณ 47 กิโลเมตร
ทั้งนี้ได้ปรับให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ท่าเรือ โรงเรียน ชุมชน ย่านการค้า ย่านเมืองเก่ามากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม ทั้งคนภูเก็ต และนักท่องเที่ยว คนไทย และ ต่างชาติ 1 คันรองรับผู้โดยสารได้ 21 คน ตั้งเป้าทดลองวิ่งเดือนต้นธันวาคมปีนี้
แผนต่อมาคือการพัฒนาเมือง จังหวัดภูเก็ตได้มีการย้ายเรือนจำประจำจังหวัดไปอยู่ที่สถานที่แห่งใหม่ ที่บ้านบางโจ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต แทนเรือนจำจังหวัดภูเก็ตเดิม ทำให้พื้นที่ของเรือนจำเดิมว่าง จึงได้มีโครงการก่อสร้างเพื่อพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่เรือนจำจังหวัดภูเก็ตแห่งเดิมเป็นสวนสาธารณะ เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ จิตใจให้ชาวภูเก็ต เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ สร้างปอดแห่งใหม่ให้จังหวัดภูเก็ต
โดยมีงบประมาณ 169.5 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงพื้นที่เรือนจำเก่าจังหวัดภูเก็ต ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครภูเก็ตให้เป็นสวนสาธารณะ เป็นสถานที่ออกกำลังกายแห่งใหม่ พร้อมด้วยที่จอดรถยนต์อีก 300 คัน รองรับรถยนต์ของประชาชนที่มาออกกำลังกายและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มาท่องเที่ยวยังย่านเมืองเก่าภูเก็ต และเชื่อมโยงกับบริบทพื้นที่สีเขียวโดยรอบให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ใจกลางเมือง เพื่อให้เกิดเป็นสวนสาธารณะของชาวภูเก็ตอย่างยั่งยืน บนพื้นที่ 33 ไร่
ล่าสุด แผนการพัฒนาและปรับปรุงท่าเทียบเรือที่อยู่ในการดูแลของ อบจ.ภูเก็ต ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ต.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต ทาง อบจ.เป็นผู้บริหารจัดการเอง โดยจะยกระดับเป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ใช้ระบบ AI คัดกรองผู้โดยสาร จัดระเบียบการจราจรบนสะพาน เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ เพื่อความพร้อมรองรับการท่องเที่ยวทางทะเลของภูเก็ตมากที่สุด
นอกจากนี้ นายเรวัต ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมย่านเมืองเก่าภูเก็ต (Phuket Old Town) ซึ่งเป็นชุมชนขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการนำเสนอประสบการณ์ที่หลากหลายให้แก่นักท่องเที่ยว
ไม่ว่าจะเป็นการชมเมือง การชิมอาหารพื้นถิ่น และการสัมผัสกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของภูเก็ต ซึ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักภูเก็ตในแง่มุมที่แตกต่างออกไป ไม่ได้มีเพียงแค่ Sea, Sand, Sun แต่ยังมี City ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าสนใจอีกด้วย