เงินในกระเป๋าจะเปลี่ยนไปอย่างไร หลัง กนง. ลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี

16 ต.ค. 2567 | 23:30 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2567 | 01:56 น.

เงินในกระเป๋าจะเปลี่ยนไปอย่างไร หลัง คณะกรรมการนโยบาย (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 4 ปี จับตาธนาคารพาณิชย์จะลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลง ตามมติ กนง.หรือไม่

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.50% เหลือ 2.25% ต่อปี โดยมีผลทันที นับเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี ด้วยเหตุผลหลักคือเพื่อบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนและให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน 

หลายคนมีคำถามที่ตามมาว่า การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อชีวิตคนไทยอย่างไร 

ประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป คือ ธนาคารพาณิชย์จะลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลงตามมติ กนง.หรือไม่  เพราะดอกเบี้ยนโยบายเป็นอัตราดอกเบี้ยชี้นำให้ธนาคารพาณิชย์ ปรับลดลงตามเท่านั้น  ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้า เช่น ลูกค้ารายใหญ่คิดดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ประมาณ 5-7% รายกลาง รายย่อย ตั้งแต่ 8% ไปถึง 10% หรือ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาก

อีกทั้งยังแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงิน รวมทั้งพฤติกรรมทางการเงินของแต่ละบุคคลด้วย 

แต่ถ้าธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลงตาม ผลจากการลดดอกเบี้ยก็จะส่งผลต่อเงินในกระเป๋าของคนแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน

ผู้กู้ภาระผ่อนลดลง

ผู้ที่มีภาระหนี้ โดยเฉพาะหนี้บ้าน รถยนต์ หรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จะได้รับประโยชน์โดยตรง เพราะภาระการผ่อนชำระรายเดือนจะลดลง 
นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่กำลังมองหาบ้านหรือคิดจะรีไฟแนนซ์ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะช่วยให้การกู้ซื้อบ้านหรือการโอนย้ายหนี้มีต้นทุนที่ถูกลง

เงินฝากได้ดอกเบี้ยน้อยลง 

ในทางกลับกัน ผู้ที่พึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก อาจรับผลตอบแทนที่ลดลง เพราะธนาคารพาณิชย์มักจะปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากตามไปด้วย แม้อาจไม่เท่ากับการลดดอกเบี้ยนโยบายทั้งหมด เมื่อผลตอบแทนลดลงผู้ฝากอาจถอนเงินไปหาผลกำไรที่สูงกว่า และบ่อยครั้งที่ตัดสินใจนำเงินออกไปลงทุนพิจารณาทางเลือกการลงทุนอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น กองทุนรวม หุ้น หรือ ในสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อแสวงหสผลกำไรที่สูงขึ้น บางคนเลือกนำเงินออกไปใช้จ่าย เมื่อกำลังซื้อมากขึ้น ก็ทำให้มีเงินไหลเวียนในระบบเพิ่มขึ้น

นักลงทุน

การลดดอกเบี้ยอาจส่งผลดีต่อตลาดหุ้นในระยะสั้น เพราะต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทจดทะเบียนจะลดลง ซึ่งอาจช่วยเพิ่มกำไรและดึงดูดเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ที่ลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้อาจเห็นผลตอบแทนลดลง แต่ราคาตราสารหนี้ที่ถืออยู่อาจปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสในการทำกำไรหากต้องการขายก่อนครบกำหนด

ผู้บริโภคอาจมีกำลังซื้อมากขึ้น 

การลดดอกเบี้ยอาจกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนมากขึ้น เพราะการเก็บเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์จะได้ผลตอบแทนต่ำลง นอกจากนี้ สินค้าผ่อนชำระอาจมีดอกเบี้ยที่ถูกลง ทำให้การซื้อสินค้าราคาสูง ผู้บริโภคควรระมัดระวังการก่อหนี้เกินตัว 

ผู้ประกอบการมีโอกาสขยายธุรกิจ

การลดดอกเบี้ยอาจเป็นโอกาสดีในการกู้ยืมเพื่อลงทุนหรือขยายกิจการ เพราะต้นทุนการกู้ยืมต่ำลงจะลดลง ซึ่งอาจช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้ ด้านการผลิตก็จะปรับเพามขึ้นด้วย เพราะคาดว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น 

เงินบาทอาจอ่อนค่า 

การลดดอกเบี้ยอาจส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกเมื่อส่งออกสินค้าเท่าเดิม ได้รับการชำระเป็นเงินดอลลาร์เท่าเดิมแต่แลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น คนไทยที่ทำงานในต่างประเทศ เอาค่าจ้างกลับมาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินต่างประเทศ นำมาแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น 

แต่อาจเป็นผลเสียต่อผู้นำเข้าที่ต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการซื้อสินค้าจากต่างประเทศ กรณีใช้เงินซื้อเท่าเดิม จะได้สินค้าน้อยลง ผู้ที่เป็นหนี้กับต่างประเทศ ใช้เงินบาทมากขึ้น แต่ชำระหนี้เท่าเดิม ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยที่วางแผนเที่ยวต่างประเทศ อาจต้องเตรียมงบประมาณเพิ่มขึ้น เพราะเงินบาทอ่อนลงอาจทำให้ค่าใช้จ่ายในต่างประเทศสูงขึ้น