นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง รายใหญ่ในภาคอีสาน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากกรณี กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.50% เหลือ 2.25% ต่อปี กลุ่มที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายนี้จะเป็นกลุ่มใหญ่ ต้นทุนทางการเงินจะปรับตัวลดลง ทำให้ประชาชนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชนคือ มีค่าใช้จ่ายลดลงและมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะส่วนที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการที่กู้ยืมเงินจะเหลือกำไรเพิ่มขึ้นเพราะเสียดอกเบี้ยน้อยลง มีแคสโฟร์ช่วยให้ธุรกิจคล่องตัวมากขึ้นระดับหนึ่ง หากเป็นหนี้ก็จะรู้สึกเหลือเงินมากขึ้น ภาพรวมของประชาชนคนทั่วไปก็เช่นเดียวกัน เพราะปัจจุบันนี้สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยเรียกได้ว่าเงินฝืดมาก
ฉะนั้นการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยให้เกิดแรงกระเพื่อมกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ เป็นผลดีในคนกลุ่มใหญ่ ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนคนทั่วไป ฝั่งของธุรกิจเองก็เดินหน้าต่อไปได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจะสวนทางกับภาพการเกิดเงินเฟ้อที่แบงค์ชาติมองเห็น
“เรื่องนี้ในภาคธุรกิจรายใหญ่อาจจะส่งผลเสียเพราะได้กำไรน้อยลง ซึ่งผมไม่แตกฉานเรื่องเงินฝืดเงินเฟ้อ แต่ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจและชาวบ้านทั่วไป ด้วยสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้มองไม่เห็นผลเสียจากการลดอัตรลดอกเบี้ยเลย ทุกอย่างจะเกิดผลดีมากกว่า เกิดการหมุนเวียนทั้งระบบเศรษฐกิจ นโยบายนี้ถือว่าดีและน่าจะใช้ได้ได้ผลมากกว่าการแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาท ที่กระเตื้องได้เพียงไม่กี่วันแต่ปัจจุบันอ่อนตัวลงจนแทบจะหายไปแล้ว”
นายมิลินทร์ กล่าวว่า เชื่อว่าได้ว่านโยบายการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยขับเคลื่อนภาวะเศรษฐกิจในวงกว้าง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกแบบ และไม่ส่งผลกระทบกับคนกลุ่มน้อยในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่มากนัก โดยเฉพาะสถาบันการเงิน
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการบริหารงานของรัฐบาลที่ต้องมีความยืดหยุด ทุกฝ่ายต้องไม่บริหารแบบสุดโต่ง มองในมุมของประชาชนเป็นหลักโดยไม่มาเป็นตัวประกันในการทำงานหาผลประโยชน์ส่วนตัว เพราะประชาชนเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทั้งผลดีและผลเสียจากทุกๆ นโยบายมากที่สุด