นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าอากาศยานอุดรธานี พบว่าเป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติใช้บริการท่าอากาศยานอุดรธานีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ช่วงปลายปีนี้
ทั้งนี้ได้สั่งการให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยจัดพื้นที่ให้บริการให้มีความคล่องตัว รวมถึงเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำผู้โดยสารถึงวิธีการใช้ระบบตรวจบัตรโดยสาร
นอกจากนี้ มอบหมายให้จัดเตรียมพื้นที่และจัดระเบียบบริการขนส่งสาธารณะภายในท่าอากาศยานให้มีความคล่องตัว กำหนดจุดจอดรับ – ส่ง และเวลาในการจอดให้ชัดเจน
ขณะเดียวกันได้ประสานงานกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จัดเตรียมรถโดยสารสาธารณะให้เพียงพอกับผู้โดยสาร โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะไปยังสถานที่ภายในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงให้ประสานตำรวจท่องเที่ยวเข้ามาร่วมดูแลอำนวยความสะดวกผู้โดยสารด้วย
นางมนพร กล่าวต่อว่า ได้เร่งรัดให้ ทย. หารือร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำแผนกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยใช้พื้นที่ท่าอากาศยานอุดรธานีจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้ท่าอากาศยานมีสีสัน และแสดงถึงอัตลักษณ์ของจังหวัด
นอกจากนี้ยังได้มอบนโยบายให้ท่าอากาศยานอุดรธานีเตรียมความพร้อมรองรับการเติบโตของธุรกิจด้านการจัดประชุมและนิทรรศการ (MICE CITY) ด้วย
นางมนพร กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ ทย. เตรียมความพร้อมของท่าอากาศยานทุกแห่งภายใต้การกำกับดูแลทั้งหมด 29 แห่ง เพื่อรองรับช่วงไฮซีซั่น โดยให้ท่าอากาศยานที่ยังไม่ได้รับใบรับรองสนามบินสาธารณะ จำนวน 23 แห่ง
ปัจจุบันได้รับใบรับรองสนามบินสาธารณะแล้ว จำนวน 3 แห่ง (ส่วนอีก 3 แห่งไม่ได้เปิดให้บริการ คือ ท่าอากาศยานตาก, ท่าอากาศยานแม่สะเรียง และท่าอากาศยานปัตตานี)
ทั้งนี้จะต้องเร่งกระบวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมทั้งรักษาและปรับปรุงการให้บริการด้านความปลอดภัยตามที่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กำหนด เพื่อรองรับการตรวจของ องค์กรการบินระหว่างประเทศ (ICAO)
ส่วนการมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการก่อสร้าง รวมถึงเร่งรัด ปรับปรุงท่าอากาศยานให้แล้วเสร็จ และพร้อมเปิดให้บริการผู้โดยสารโดยเร็ว ซึ่งการปรับปรุงกระบวนการก่อสร้างนั้น ต้องไม่ให้กระทบต่อการให้บริการผู้โดยสารโดยเฉพาะในช่วงเร่งด่วน เพื่อลดความแออัดของผู้โดยสารในบริเวณที่มีปัญหา
ด้านการตรวจสอบอุปกรณ์ในการอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในท่าอากาศยานให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย เช่น ลิฟท์ บันไดเลื่อน ระบบปรับอากาศ เป็นต้น รวมถึงจัดให้มีผู้ประกอบการในกิจกรรมที่ยังไม่มี เช่น รถสาธารณะ ภายในท่าอากาศยาน เพื่อเชื่อมต่อจากท่าอากาศยานไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
นางมนพร กล่าวต่อว่า ยังได้มอบหมายให้ ทย. จัดระเบียบการให้บริการรถสาธารณะ อาคาร และลานจอดรถยนต์ โดยเน้นย้ำภาพลักษณ์ของผู้ประกอบการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนให้มีความพร้อมในการให้บริการ พร้อมทั้งพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการในทุกพื้นที่ อีกทั้ง ต้องจัดระเบียบร้านค้า รวมถึงการควบคุมราคาไม่ให้เอาเปรียบผู้มาใช้บริการด้วย
สำหรับพื้นที่กิจกรรมของท่าอากาศยาน ต้องจัดให้มีจุดเช็คอิน ป้ายต้อนรับสู่ท่าอากาศยานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของจังหวัด เพื่อดึงดูดให้ผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการ และจัดให้มีพื้นที่กิจกรรมของจังหวัดและท้องถิ่นผ่านความร่วมมือกับทางจังหวัด โดยเฉพาะในช่วงที่มีปริมาณผู้โดยสารมาใช้บริการจำนวนมาก อาทิ วันหยุด วันนักขัตฤกษ์ และช่วงเทศกาลต่างๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
ขณะเดียวกันต้องจัดให้มีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างความรับรู้ของประชาชนต่อการให้บริการของท่าอากาศยานด้วย
นายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ทย. ได้เตรียมแผนการอำนวยความสะดวกผู้โดยสารในการเดินทางเชื่อมต่อไปยังสถานที่ต่างๆ ภายในจังหวัด ทั้งรถแท็กซี่ และรถสองแถว โดยให้บริการเส้นทางสนามบินฯ - ตัวเมืองอุดร และรถเช่า จำนวน 6 บริษัท รวมทั้งจัดเตรียมร้านค้า ร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้บริการผู้โดยสารอย่างครบครัน
นอกจากนี้ ทย. มีแผนพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานี ประกอบด้วย การสร้างทางเดินเชื่อมภายในและปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารในปี 2569, การก่อสร้างศูนย์ขนส่งผู้โดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางสู่ระบบขนส่งสาธารณะอย่างไร้รอยต่อ
ส่วนการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 พร้อมด้วยการปรับปรุงอาคารที่พักหลังที่ 1 และ 2 พร้อมอาคารจอดรถยนต์และอาคารสำนักงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571 ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นเป็น 7.2 ล้านคนต่อปี
ทั้งนี้ท่าอากาศยานอุดรธานี มีอาคารที่พักผู้โดยสารขนาด 19,200 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,200 คนต่อชั่วโมง หรือ 3.456 ล้านคนต่อปี ความยาวทางวิ่ง ขนาด 45 x 3,050 เมตร รองรับอากาศยาน A330/B77 ได้ 11 ลำ ในเวลาเดียวกัน และที่จอดรถรองรับได้ 655 คัน
สำหรับแผนในการพัฒนาท่าอากาศยานดังกล่าวนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ เสริมสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน รวมถึงช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นอุตสาหกรรม MICE CITY ของจังหวัดอุดรธานีให้ก้าวสู่ศูนย์กลางของอาเซียนด้วย