KEY
POINTS
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีแผนเดินหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาเมือง
ทั้งนี้ใช้ระบบขนส่งทางรางเป็นตัวชี้นำการพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาให้ระบบรางเป็นการเดินทางหลักที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้สะดวก และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อผลักดันระบบขนส่งทางราง
ปัจจุบันสนข.ได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง (ปี 2567-2582) เพื่อศึกษาTransit Oriented Development (TOD) ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาเมือง และชุมชนเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ทั้ง 177 แห่งแล้วเสร็จ ซึ่งอยู่ระหว่างนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบภายในปีนี้
หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่พิจารณาได้ภายในปี 2567 หากครม.เห็นชอบแล้วจะสามารถดำเนินการในพื้นที่ได้ทันที
ล่าสุด นายปัญญา ชูพานิชผอ.สนข. กล่าวว่า ปัจุบันมีต้นแบบการพัฒนา TOD รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) จำนวน 3 แห่ง จาก 177 แห่ง ทั่วประเทศ ประกอบด้วย สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา จังหวัดชลบุรี
ขณะเดียวกันเบื้องต้นสนข.ได้มีการหารือร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (สกพอ.) และเทศบาลเมืองพัทยา โดยสกพอ.มีความพร้อมที่จะช่วยเราขับเคลื่อนโครงการฯ ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการจัดทำผังเมืองใหม่
ขณะที่สถานีรถไฟความเร็วสูงขอนแก่น ขณะนี้ทางจังหวัดขอนแก่นอยากให้โครงการฯนี้เกิดขึ้น เพราะในจังหวัดขอนแก่นมีระบบขนส่งสาธารณะในเมืองที่สามารถเชื่อมต่อกับโครงการได้ คาดว่าพื้นที่ 2 แห่ง จะเร่งดำเนินการได้ภายในปี 2567
ส่วนสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา จะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไรนั้นตอบยาก เนื่องจากในปัจจุบันยังติดปัญหาเรื่องมรดกโลก ทำให้มีความล่าช้า แต่สนข.ก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนได้เห็นข้อดีและผลประโยชน์ของโครงการฯ
สำหรับแผนการศึกษา TOD ทั้ง 3 แห่ง รวมพื้นที่ 1,943 ไร่ มูลค่า 17,326 ล้านบาท ดังนี้
1.สถานีรถไฟขอนแก่น พื้นที่ 837 ไร่ เป็น TOD ศูนย์ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เป็นศูนย์ กลางเมืองขอนแก่นแห่งใหม่ ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างผสมผสานมีการเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ชุมชนเดิมและชุมชนใหม่ เพิ่มพื้นที่
สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เชื่อมกับสถานีรถไฟความเร็วสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.สถานีรถไฟอยุธยา พื้นที่ 206 ไร่ เป็น TOD ศูนย์กลางเมืองภาคกลาง ตัวแทนกลุ่มแนวเส้นทางรถไฟสายเหนือ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้สอดคล้องกลมกลืนกัน ระหว่างความเป็นเมืองเก่ากับความทันสมัย
ทั้งนี้มุ่งเน้นการเชื่อมต่อพื้นที่สถานีความเร็วสูงที่จะเป็นศูนย์กลางเมืองใหม่เข้ากับพื้นที่ชุมชนเมืองเดิมด้วยสะพานทางเดินข้ามแม่น้ำ ท่าเรือข้ามฟาก และระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder)
นอกจากนี้ยังเพิ่มพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมพื้นที่สาธารณะภายในเมืองด้วยโครงข่ายพื้นที่สีเขียว ทางจักรยาน ทางเท้า และทางยกระดับ รักษาสมดุลของการอนุรักษ์และพัฒนา
3.สถานีเมืองพัทยา พื้นที่ 900 ไร่ สามารถพัฒนาได้ 4 โซนหลัก คือ โซน 1 ย่านอาคารสำนักงานที่พร้อมรองรับทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตอย่างลงตัว เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งติดสถานีรถไฟ พื้นที่นี้จึงเหมาะพัฒนาแบบผสมผสาน รองรับทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประชาชน
โซนที่ 2 ศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การพาณิชย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคล่องตัว โซนที่ 3 มหานครแห่งอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE City) ครบวงจร
โซนที่ 4 ชุมชนที่อยู่อาศัยอยู่สบาย เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ด้วยความสะดวกสบาย
ด้าน สกพอ. มี บิ๊กโปรเจ็กต์สำคัญ คือ โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ (EEC Capital City : EECiti) หรือ “เมืองหลวงของอีอีซี” เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก
สำหรับรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve Target Industries) เป็นศูนย์ธุรกิจ เมืองน่าอยู่ มีสิ่งแวดล้อมดี สีเขียวและแหล่งน้ำประมาณ 30% และอีก 70% จะเป็นพื้นที่ธุรกิจเป้าหมาย ประเมินมูลค่าการลงทุนประมาณที่ 1.34 ล้านล้านบาท บนพื้นที่ประมาณ 14,619 ไร่