ธุรกิจกัญชา สะดุด ชง 3 แนวทาง ปลดล็อก คุมเข้มนำเข้า-จัดโซนนิ่ง

12 มิ.ย. 2566 | 10:05 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มิ.ย. 2566 | 10:11 น.

เสียงสะท้อนจากวงใน “กัญชา” หลังพรรคก้าวไกล จ่อดึงกลับสู่บัญชียาเสพติด ทำผู้ประกอบการชะลอแผนลงทุน แนะรัฐบาลใหม่ขันน็อตกฎหมายเดิม เอาผิดจริงจัง คุมเข้มลักลอบนำเข้าป้องกันสินค้าเถื่อน จัดโซนนิ่งพร้อมให้ความรู้เพิ่ม

หนึ่งในนโยบาย 100 วันแรกหลังพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลคือการผลักดันให้ “กัญชา” กลับไปอยู่ในบัญชีรายชื่อยาเสพติด แม้จะยืนยันถึงเป้าประสงค์ว่า เพื่อให้เจ้าพนักงานยาเสพติด ตำรวจ ป.ป.ส.ทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่ก็สร้างความกังวลแก่ผู้ประกอบการ และผู้ปลูก ที่ลงทุนไปก่อนหน้านี้ไม่น้อย

อย่างไรก็ดี แม้พรรคก้าวไกลจะระบุว่าเตรียมออกประกาศเพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการหรือผู้ปลูก ผู้จำหน่ายที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างไม่มีปัญหา พร้อมจะเร่งจัดทำกฎหมายเพื่อควบคุม และออกกฎระเบียบในการใช้กัญชา คือ พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ และยังต้องมีบทเฉพาะกาลเพื่อคุ้มครองความเสียหายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

กรณีมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ เพื่อเป็นการควบคุมความเสียหายที่เป็นผลพวงจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งสร้างช่องโหว่ทำให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้น จำเป็นต้องเยียวยาทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรมเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายยังวิตกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

ธุรกิจกัญชา สะดุด ชง 3 แนวทาง ปลดล็อก คุมเข้มนำเข้า-จัดโซนนิ่ง

นายพงษ์สกร ดำเนิน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายงานธุรกิจพลังงานและกัญชงกัญชา บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดนั้น คาดว่าจะต้องอาศัยเวลา เร็วที่สุดที่เป็นไปได้คือ ไตรมาส 1 ปี 2567

เพราะต้องใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาล กว่าผ่านสภาและต้องผ่านกรรมการ ป.ป.ส. แต่ในช่วงนี้เพลนพอยท์ของธุรกิจกัญชา กัญชง เป็นเรื่องของภาพลักษณ์มากกว่าเพราะมีการใช้กัญชาในการสันทนาการ และการใช้ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม แม้จะมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามสูบรบกวนสร้างรำคาญให้คนอื่นและห้ามนำเข้ามาก็ตาม แต่ในความเป็นจริงคือปัจจุบันมีการลักลอบนำกัญชาจากต่างประเทศเข้ามาทำให้เกษตรกรไทยเหนื่อย

ขณะเดียวกันกฎของกรมการแพทย์แผนไทยเรื่องของสมุนไพรควบคุมยังไม่ถูกขันน็อตให้แน่น ถ้าเกิดว่าที่นายกฯ ต้องการจัดการกัญชาจะต้องเริ่มจัดการเรื่องพวกนี้ก่อน เช่น ขันน็อตให้แน่นมีการตั้งกฎเพิ่มขึ้นมาเช่น ห้ามตั้งร้านขายกัญชาใกล้สถานศึกษา หรือแม้แต่ให้ตำรวจหรือกระทรวงสาธารณสุขจังหวัดไปไล่กวดขันตามแหล่งต่างๆ ควบคู่ไปกับควบคุมเรื่องของการนำเข้า จุดนี้น่าจะเป็นประเด็นที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วนมากกว่าและทำได้เลยโดยไม่ต้องรอผ่านกระบวนการก่อนที่จะกลับไปเป็นยาเสพติดให้โทษ เพื่อให้กัญชากลับมามีภาพลักษณ์ที่ดีและถูกควบคุมอย่างถูกต้อง

ธุรกิจกัญชา สะดุด ชง 3 แนวทาง ปลดล็อก คุมเข้มนำเข้า-จัดโซนนิ่ง

ถ้าหากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดจริงๆจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อผู้ประกอบการ “พงษ์สกร” บอกว่า ส่วนตัวมองว่าถ้านโยบายเดินได้ถูกต้อง ถูกทิศถูกทาง อาจส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทยที่ขออนุญาตถูกต้อง เพราะจะทำให้คู่แข่งโดยเฉพาะกัญชาที่ลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมายลดน้อยลง และเป็นโอกาสที่ดีในการปราบปรามกัญชาเถื่อนทำให้ภาพลักษณ์ของกัญชากลับมาเป็นกัญชาทางการแพทย์หรือกัญชาเพื่อสุขภาพ ส่วนประเด็นของการส่งออกต่างประเทศต่างๆ ตอนนี้ยังไม่มีการบล็อกหรือห้ามไม่ให้ทำ

“มองว่าตัวนโยบายนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดที่จะออกมาในอนาคต ถ้าเกิดไปถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือ ไม่ให้ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกัญชา กัญชงเราก็ต้องยุติกิจการ แต่เท่าที่ฟังสัมภาษณ์ยังให้ทำต่อ แต่อาจจะต้องมีการควบคุม อีกประเด็นส่วนตัวมองว่าถ้าการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด

ไม่ได้สุดโต่งผลลัพธ์อาจจะออกมากลางๆเหมือนยุโรป หรือกลับไปเหมือนช่วงก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2565 คือกำหนดปริมาณ THC เกิน 1% ถูกควบคุมเข้มงวด แต่กัญชาที่มี THC ต่ำกว่า 1% สามารถนำมาทำโปรดักต์ซึ่งจะเหมือนกลุ่มประเทศยุโรปที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน”

ดังนั้นตอนนี้ผู้ประกอบการยังรอความชัดเจนของนโยบายที่จะออกมาก่อนที่จะทำอะไรเพิ่มเติม ในส่วนของกันกุลเองตอนนี้มีการชะลอการขยายกิจการและติดต่อกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ รวมทั้งทำมาตรฐานต่างๆให้ได้มาตรฐานโลกเช่น GACP เตรียมไว้ล่วงหน้า เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาหากสามารถเดินหน้ากัญชาต่อไปได้ บริษัทก็สามารถดำเนินการต่อไปทันที แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าสถานการณ์จะไม่แย่ถึงขั้นต้องปิดกิจการ

ธุรกิจกัญชา สะดุด ชง 3 แนวทาง ปลดล็อก คุมเข้มนำเข้า-จัดโซนนิ่ง

“สถานการณ์ที่แย่ที่สุดคิดว่าก็คงกลับไปเป็นเหมือนก่อน 9 มิถุนายนปีที่แล้ว ซึ่งช่วงนั้นภาพลักษณ์ของกัญชาทางการแพทย์และกัญชงเพื่อสุขภาพค่อนข้างดีมาก ใครๆก็อยากใช้ แต่ตอนนี้ภาพลักษณ์ไม่ค่อยดี ใครๆก็ไม่กล้าใช้ แถมมีกัญชาลักลอบนำเข้ามา แต่สุดท้ายถ้าไปถึงกัญชาเป็นยาเสพติด กัญชาก็ต้องถูกควบคุมมากขึ้นซึ่งกำลังการผลิตของเราสร้างมาตั้งแต่ช่วงที่กัญชาเป็นยาเสพติด เรามีรั้วรอบขอบชิด มีกล้องวงจรปิด มีระบบที่สามารถแทร็กกิ้งได้

ถ้ารัฐบาลใหม่ประกาศควบคุมกัญชามากขนาดนั้น เราก็ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเพราะเราสามารถทำได้อยู่แล้ว และต่อให้เอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด แต่รัฐบาลยังเน้นกัญชาทางการแพทย์สามารถทำได้ กัญชงเพื่อสุขภาพยังทำได้ และกัญชาส่งออกยังทำได้ ทางเราก็ไม่กังวลในส่วนนี้ กลับกันจะกลายเป็นการควบคุมกัญชาไม่ให้มีการลักลอบนำเข้า ซึ่งอาจจะดีกับเกษตรกรไทยในภาพรวม รวมทั้งบริษัทใหญ่ๆ หรือเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนต่างๆก็อาจจะดีด้วย”

นายพงษ์สกร กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันในพอร์ตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับกัญชาของกันกุล มีทั้งส่วนของช่อดอกกัญชง/กัญชา ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมส่งออกไปต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ CBD full spectrum มีกลีเซอเลท, ไอเซอเลท, วอเทอร์ ซูเลเบอร์ ส่วนปลายน้ำมีผลิตภัณฑ์ชาและเครื่องดื่มหลายๆตัว แต่ตอนนี้ยอมรับว่าสินค้าปลายน้ำมีภาพลักษณ์ไม่ค่อยดีนักผู้บริโภคก็อาจชะลอไปบ้าง

“นอกจากนี้เรายังมีโปรดักท์ที่อยู่ในแผนจะเปิดตัวแต่ยังชะลออยู่ 2-4 รายการ เช่น แคปซูล, เจลลี่กัมมี่ CBD ฯลฯ ซึ่งบริษัทพัฒนาไว้แล้ว อาจจะต้องชะลอไปก่อน เพราะกลัวว่าถ้าเปิดตัวไปแล้วกฎหมายไม่รองรับก็อาจจะมีความเสี่ยง แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่มีความชัดเจนมากขึ้น บริษัทก็พร้อมจะปล่อยสินค้าพวกนี้ออกสู่ตลาดทันที”

ด้านนพ.ยุทธนา สงวนศักดิ์โกศล รองกรรมการกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การที่พรรคก้าวไกลจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดนั้น มองว่า หลังการเลือกตั้งหากนโยบายของกัญชามีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นก็เป็นเรื่องที่ดี

“สำคัญคือต้องมีการควบคุมกำกับแต่ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด แต่ถ้าจะให้เลิกก็ไม่สมควร” แต่ต้องมีการควบคุมเช่น การจัดโซนนิ่งในการเสพกัญช าเพราะกฎหมายเมืองไทยตอนนี้ยังไม่มีการกำกับที่ชัดเจน แม้กระทั่งเหล้าหรือบุหรี่ก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นกัญชาก็จะต้องควบคุมเหมือนเหล้า

“คนประเทศเราไม่ได้มีความรู้มากมายเหมือนคนต่างชาติเพราะฉะนั้นจะต้องมีการกำกับดูแล ไม่ใช่เสรีสูบได้ทั่วไปมันกลายเป็นการมอมเมา”

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,895 วันที่ 11 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2566