ธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมาก พบว่าผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องการวางมือพักผ่อนหลังจากทำงานมายาวนาน แต่ยังประสบปัญหาเรื่องผู้สืบทอดที่จะเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจ ทั้งนี้เนื่องจากภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนั้นมีความหลากหลายอย่างมาก โดยมีตั้งแต่ร้านขายของชำไปจนถึงบริษัทวิศวกรรมมืออาชีพ จึงทำให้แต่ละบริษัทต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนรุ่นในสถานการณ์ที่แตกต่างกันมาก ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำแนวทางดำเนินการเปลี่ยนรุ่นในรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
แบบแรก ธุรกิจขนาดไม่ใหญ่วิสาหกิจขนาดย่อมที่ทำธุรกิจด้วยตนเองทั้งหมด ซึ่งอนาคตขึ้นอยู่กับสมาชิกในครอบครัว ธุรกิจเหล่านี้ดำเนินการในตลาดที่มีคู่แข่งจำนวนมาก และโดยทั่วไปลูกค้าจะมีการติดต่อกับผู้ก่อตั้ง เช่น ช่างไฟฟ้า ทนายความ สูตินรีแพทย์ ทันตแพทย์ เป็นต้น
สำหรับธุรกิจประเภทนี้สิ่งที่สำคัญในการเปลี่ยนรุ่น คือการชักนำให้สมาชิกในครอบครัวเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจอย่างรอบคอบ โดยสมาชิกในครอบครัวที่มีความสามารถและเต็มใจที่จะรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว อย่างไรก็ตามด้วยลักษณะเฉพาะของธุรกิจประเภทนี้จึงทำให้ยากที่จะขายกิจการได้ ดังนั้นหากไม่มีผู้สืบทอดที่เป็นสมาชิกในครอบครัวก็อาจต้องเตรียมเลิกกิจการในที่สุด
แบบที่สอง บริษัทภายใต้การนำของผู้ก่อตั้งที่โดดเด่น โดยมีผู้สืบทอดที่เหมาะสมภายในครอบครัว ซึ่งในธุรกิจครอบครัวประเภทนี้การเปลี่ยนรุ่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญสุดคือการที่สมาชิกในครอบครัวเข้ามารับช่วงต่อจากผู้ก่อตั้งทันเวลาและเป็นผู้บริหารที่พึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อยู่เบื้องหลังอีกต่อไป
อย่างไรก็ตามสมาชิกในครอบครัวคนใหม่ควรได้รับการแนะนำจากผู้นำคนเก่าให้รู้จักกับความสัมพันธ์ต่างๆที่มีอยู่ในธุรกิจและบริหารธุรกิจควบคู่กันไปด้วย แม้อาจจะต้องใช้ระยะเวลาหลายปี จากนั้นผู้นำคนเก่าจึงเปลี่ยนไปทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้นำคนใหม่อยู่เบื้องหลังแทน
แบบที่สาม ธุรกิจมัลติเจนเนอรเรชั่นที่สมาชิกในครอบครัวหลายคนมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจ การเปลี่ยนรุ่นอาจดูง่ายกว่าประเภทธุรกิจในข้อ 2 แต่การเลือกผู้นำคนใหม่อาจนำไปสู่การต่อสู้แย่งชิงกัน จนท้ายที่สุดอาจหมายถึงจุดสิ้นสุดของธุรกิจก็เป็นได้
ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีความชัดเจนตั้งแต่เริ่มกระบวนการเปลี่ยนรุ่นว่าใครจะเป็นผู้สืบทอด ใครจะเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในประเด็นใดบ้าง โดยอาจแบ่งเป็นด้านต่างๆ และระบุชัดเจนว่าใครรับผิดชอบด้านใด ด้วยกฎภายในองค์กรที่เที่ยงตรงแบบที่สี่ธุรกิจครอบครัวที่ไม่มีผู้สืบทอด ในกรณีที่ไม่มี
ผู้สืบทอด มี 2 ทางเลือกคือการขายธุรกิจ เลิกกิจการ หรือใช้คนนอกครอบครัว หากจะขายธุรกิจก็ต้องเตรียมพร้อม เรื่องธุรกรรมที่ผูกพันและการบัญชีก็ต้องโปร่งใส หากไม่เช่นนั้นแล้วเจ้าของใหม่จะไม่สามารถเข้าควบคุมธุรกิจได้อย่างราบรื่นรวดเร็ว จึงพบว่าผู้ก่อตั้งมักจะถูกจ้างใหม่โดยเจ้าของใหม่ในฐานะที่ปรึกษาตามสัญญาหรือการจ้างงานเพื่อช่วยให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นนั่นเอง
ไม่ว่าจะทำธุรกิจประเภทใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับการสืบทอดกิจการเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อที่ว่าเมื่อถึงเวลาจริงจะได้มีความพร้อมเสมอไม่ว่าจะต้องเปลี่ยนรุ่นด้วยสาเหตุใดก็ตาม และกระบวนการเปลี่ยนผ่านจะได้เป็นไปอย่างราบรื่นตามแผนที่วางเอาไว้ล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,932 วันที่ 19 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2566